พระตำหนักคำหยาด ตั้งอยู่ตำบลคำหยาด ถัดจากวัดโพธิ์ทอง จ.อ่างทอง ไปทางทิศตะวันตกประมาณ 2 กม. บนถนนสายเดียวกัน ตัวอาคารตั้งโดดเด่นอยู่กลางทุ่งนา ก่อด้วยอิฐถือปูนขนาดกว้าง 10 เมตร ยาว 20 เมตร ปัจจุบันมีเพียงฝนัง 4 ด้าน แต่ยังทิ้งร่องรอยของความสวยงามทางด้านศิลปกรรม เช่น ลอดลายประดับซุ้มจรนำหน้าต่าง มีมุขเด็จด้านหน้าและด้านหลัง ภายในทาดินแดง ปูพื้นกระดาน
พระตำหนักคำหยาด พงศาวดารกรุงศรีอยุธยาหลายฉบับมีความปรากฏได้ว่า “ปีมะโรง โทศก” เดือนแปดข้างขึ้น กรมขุนพรพินิต (ต่อมาคือ สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร หรือ สมเด็จพระอุทุมพรมหาพรพินิต หรือ สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 6 มีพระนามเดิมว่า เจ้าฟ้าดอกเดื่อ เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 32 แห่งกรุงศรีอยุธยา) เสด็จลงเรือพระที่นั่งออกไป ณ วัดโพธิ์ทองคำหยาด ทรงผนวชแล้วเสด็จกลับมาอยู่ ณ วัดประดู่ดังแต่ก่อน แสดงให้เห็นว่ากรมขุพรพินิต ได้เสด็จมาผนวช ซึ่งพระองค์จะต้องมาประทับที่ตำหนักคำหยาดแห่งนี้แน่นอน
ด้านข้างของพระตำหนักคำหยาด
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จทอดพระเนตรพระตำหนักคำหยาด เมื่อวันที่ ๒๖ ตุลาคม ๒๔๕๑ และทรงมีพระราชวินิจฉัยดังปรากฏว่าในพระราชหัตถเลขาเรื่องลำน้ำมะขามเฒ่าว่า “พระตำหนักนี้คงจะได้สร้างเมื่อขุนหลวงบรมโกศเสด็จประภาสตามแถบเมืองอ่างทองเนืองๆ จนถึงได้เสด็จพระนอนขุนอินทรประมูลถึง ๒ครั้ง ทรงปฏิสังขรณ์ทั้งพระนอนจักร์สีห์ และพระนอนขุนอินทรประมูลที่ตำหนักคำหยาดนี้คงได้สร้างไว้เป็นที่ประทับเสด็จออกมาเนืองๆ” ขณะที่กรมขุนพรพินิตผนวชอยู่ที่วัดราชประดิษฐ์ ได้ทรงนำข้าราชบริพารกับพระภิกษุที่จงรักภักดีต่อพระองค์ ออกจากพระนครศรีอยุธยามา จำพรรษาที่ วัดโพธิ์ทอง และประทับอยู่ที่พระตำหนักคำหยาดนี้เพื่อไปสมทบกับชาวบ้านบางระจัน ปัจจุบันกรมศิลปากรได้บูรณะ และขึ้นทะเบียนพระตำหนักคำหยาดเป็นโบราณสถานไว้แล้ว
ที่มา: กรมศิลปากร
บริเวณด้านหน้าของพระตำหนักคำหยาด
ทางทีมงาน www.pimpatchara.com ได้ออกเดินทางไปแต่เช้าเพื่อตั้งใจไปชมความสวยงามที่ยังคงหลงเหลือ ซึ่งเมื่อถึงบริเวณพระตำหนักคำหยาด ก็ไม่ทำให้เราผิดหวัง สถาปัยกรรมยังทิ้งร่องรอยความสวยงามให้เราได้ชื่นชม ในบรรยากาศร่มรื่นเงียบสงบ ระหว่างที่เราเก็บบรรยากาศบริเวณรอบนอก พบว่าพระตำหนักคำหยาดตั้งอยู่กลางลานกว้าง เด่นเป็นสง่า โครงสร้างผนังมีความหนาดูแข็งแรง ทำให้นึกถึงอดีตหากพระตำหนักคำหยาดยังคงอยู่ในสภาพสมบูรณ์คงสวยงามมาก
บริเวณด้านหลังของพระตำหนักคำหยาด
ก่อนที่เราจะขึ้นไปชมด้านบนของพระตำหนักคำหยาด ทางเราก็ไม่พลาดที่จะเตรียมดอกไม้ธูปเทียนกราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ณ สถานที่แห่งนี้ สำหรับใครที่ต้องการจุดธูปเทียน แนะนำให้เตรียมไปด้วยนะคะเพราะบริเวณนั้นหายาก หรือแทบไม่มีเลย
จากนั้นเราเดินชมบรรยากาศโดยรอบก่อน และทางทีมงานได้ขึ้นไปชมที่ชั้น2 เพื่อเก็บภาพบรรยากาศด้านบน พบว่าพื้นส่วนหนึ่งเป็นไม้ มุมมองจากจุดที่ยืนมีความสวยงาม มุมของช่องหน้าต่าง ลมพัดมาเป็นระยะ เย็นสบาย หลังจากเดินชมด้านบนเรียบร้อยแล้ว ทางเราก็มาสำรวจต่อด้านล่าง
ซึ่งจุดนี้อยากจะบอกว่าเป็นจุดเด่นก็เป็นได้ เมื่อเดินเข้าไปสัมผัสได้ถึงบรรกาศสงบ สวยงามอย่างบอกไม่ถูก เสียดายที่มีนกพิราบเยอะไปหน่อย อยากให้ทางราชการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อยากให้เข้ามาดูแลมากกว่านี้ เสียดายโบราณสถานที่มีประวัติศาสตร์ที่สำคัญต่อประเทศไทย
บริเวณด้านในพระตำหนักคำหยาด
บริเวณด้านในพระตำหนักคำหยาด
บริเวณด้านหลังพระตำหนักคำหยาด
เมื่อทางทีมงานเดินชมบรรยากาศจนอิ่มใจ เราก็ได้แต่คิดถึงความภูมิใจในชนชาติไทย และระลึกถึงบุญคุณของบรรพบุรุษของเราที่ปกป้องบ้านเมืองให้เราได้มีผืนแผ่นดิน ไม่เป็นเมืองขึ้นของใคร หากใครได้เคยอ่านประวัติศาสตร์ของชาติที่เป็นเมืองขึ้นจะพบว่า
พวกเขาเหล่านั้นได้พบเจอความโหดร้ายและเลวร้ายแค่ไหนจากเจ้าอาณานิคมชาติต่างๆ ….
โดยส่วนตัวผู้เขียน ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมงาน Pimpatchara.com ชอบไปตามโบราณสถานและวัดที่มีอายุเก่าแก่ เพราะมีความเชื่อและชอบส่วนตัว เช่นวัดเก่าๆพระพุทธรูปเก่าๆ สมัยโบราณมักถูกสร้างโดยผู้ทรงศีล มีศีลพร้อมครบ มีฤกษ์งามยามดีในการสร้าง จึงเป็นโอกาสดีที่ผู้เขียนจะได้มีโอกาสไปกราบสักการะในสถานที่แห่งนั้น และที่สำคัญคือทุกที่จะมีเรื่องราวซ่อนอยู่ รอให้เราได้ศึกษาเก็บเกี่ยวความรู้ต่อไป
สุดท้ายทางทีมงานอยากของฝากเพื่อนๆทุกท่าน หากมีโอกาสได้ไปจังหวัดอ่างทองลองเข้าไปสัมผัสความสวยงามของพระตำหนักคำหยาด ถึงแม้จะเป็นพระตำหนักเล็กๆ แต่ก็เต็มไปด้วยความสวยงามและร่องรอยแห่งประวัติศาสตร์ พื้นที่แห่งนี้จะได้ไม่เงียบเหงา กลายเป็นสถานที่สำคัญแต่ถูกคนไทยลืม