ประกาศอิสรภาพ

วันที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงประกาศอิสรภาพ

วันที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงประกาศอิสรภาพ

วันสำคัญที่คนไทยควรทราบและรำลึกถึงอีกหนึ่งวันสำคัญในสมเด็จพระนเรศวรมหาราช   วันที่พระองค์ทรงประกาศอิสรภาพ ณ เมืองแครง ว่าต่อแต่นี้ไปสยามไม่ขึ้นต่อกรุงหงสาวดี ตราบเท่ากาลปาวสาน เมื่อแรมสามค่ำ เดือนหก ปีวอก  ซึ่งในบันทึกพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐฯระบุว่าเป็น “ปีวอก ฉศก จุลศักราช ๙๔๖”

เหตุการณ์ในครั้งนี้เกิดขึ้นเมื่อพระองค์ทรงยกทัพไปตีเมืองอังวะ ตามรับสั่งจากพระเจ้ากรุงหงสาวดี ครั้งนั้นเมืองสยามเรายังเป็นเมืองขึ้นอยู่ และบทความต่อจากนี้ทางทีมงานขอยกบทความจากหนังสือ “การก่อสร้างพระเจดีย์อิสรภาพ อนุสรณ์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช เล่ม๔ บันทึก เมื่อพ.ศ.๒๕๒๗-๒๕๒๕” โดยคุญศรีเพ็ญ จัตุทะศรี และอาจารย์พร รัตนสุวรรณ(ท่านเคยเป็นอาจารย์พิเศษสอนในมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย ซึ่งประวัติของท่าน ทางเราจะดำเนินการลงประวัติในครั้งต่อไป )

               “ในปีใหม่ที่กำลังจะมาถึงคือปีพุทธศักราช ๒๕๒๗ อันเป็นปีครบรอบร้อยปีครั้งที่๔ นับจากปีที่ประกาศอิสรภาพไม่ขึ้นอยู่กับใครๆ เป็นต้นมา จะเป็นปีที่มีความสบายใจที่ว่าเรามีอิสรภาพแล้ว แต่จะเต็มไปด้วยความยุ่งยากนานาประการ ซึ่งจะเกิดขึ้นรอบด้านทั้งภายนอกและภายใน จงมีสติ อดทนและสงบแผ่เมตตาให้อภัย สร้างพลังอำนาจจิต ทุกวันพุธ จงตั้งจิตสวดพุทธมนต์บท มหาสติปัฏฐานสูตร เพิ่มขึ้นอีกหนึ่งบท จะขอเล่าเหตุการณ์เมื่อปีพุทธศักราช ๒๑๒๗ ซึ่งได้ประกาศอิสรภาพ ณ ที่เมืองแแครง ในคราวครั้งกระโน้น เพราะความที่ตกเป็นเมืองขึ้น จึงต้องกระทำตามคสั่งจาดพระเจ้ากรุงหงสาวดี ให้ยกทัพไปช่วยตีเมืองอังวะซึ่งกระด้างกระเดื่องขึ้น ขณะที่เดินทัพไปถึงเมืองแครง พระมหาเถรคันฉ่องอันเป็นที่เคารพนับถือพักพิงทางใจ ได้บอกข่าวว่า อันพระยาเกีรติและพระยารามซึ่งเป็นชนชาวรามัญเล่าให้ฟังว่า ได้รับมอบหมายให้มาสืบและส่งข่าวเป็นระยะๆ ว่า พระองค์ดำเดินทัพมาถึงจุดใดแล้ว เพื่อทัพหลวงจะได้ออกมาคอยต้อนรับ และทั้ง๒ คน ได้ทราบมาลับๆว่า การเดินทัพมาหงสาวดีคราวนี้ของพระองค์ดำนั้น จะไม่มีโอกาสกลับแผ่นดินไทยอีกเลย พระมหาเถรคันฉ่องจึงได้เตือนให้ระวังพระองค์เอง เมื่อทราบเช่นนั้น จึงเห็นว่า ถึงเวลาอันสมควร แล้วที่จะเป็นอิสระ ไม่ต้องคอยรับใช้ตามคำสั่งใครๆ ในเมื่อคนๆ นั้น มิได้ตั้งอยู่ในครรลองแห่งความดี

 วันนั้นแรมสามค่ำ เดือนหก ปีวอก ครั้นได้เวลายามพระสุริยาตั้งตรงศรีษะ ไม่มีเงาทอดห่างตัว ประทับยืนกลางแจ้งไร้สิ่งบดบัง เปลือยพระบาทแนบแน่นกับพื้นธรณี ผินพระพักตร์สู่เบื้องทิศบูรพา พระหัตถ์ขวาเหยียดตรงไปเบื้องหน้า แล้วจึงได้หลั่งอุทกธาราจากสุวรรณพิงคาร สู่พื้นปฐพีต่อหน้ามุขมาตยาโยธาหารทั้งปวง ขณะเมื่ออุทกธารารดหลั่งลงสู่พื้นพสุธานั้น ได้สำรวมจิตอธิฐานโดยแน่วแน่ออกพระโอษฐ์ตรัส ประกาศแก่เทพยดาทั้งหลาย อันมีมหิทธิฤิทธิ์และทิพจักขุทิพโสต ซึ่งสถิตอยู่ทุกทิศานุทิศทั่วฟ้าดินจงเป็นทิพพยาน ด้วยพระเจ้าหงสาวดีมิได้ตั้งอยู่โดยครองสุจริตมิตรภาพขัตติยราช ประเพณีเสียสามัคคีรสธรรม ประเพณีพาลทุจริตคิดจะทำภยันตรายแก่เรา ตั้งแต่วันนี้ไปกรุงพระมหานครศรีอยุธยากับเมืองหงสาวดี มิไดเป็นสุวรรณปฐพีเดียวดุจหนึ่งเช่นกาลก่อน ขาดจากกันนับแต่วันนี้ไปตราบเท่ากาลปาวสาน กับทั้งนับแต่วันนี้ไปผืนแผ่นดินไทยแลลูกหลาน สายเลือดไทย จะต้องไม่ตกเป็นทาษของใครๆหรือสิ่งใดๆ อันมิได้ตั้งอยู่ในครรลองแห่งสัจธรรม จะต้องมีอิสรภาพตลอดไปตราบเท่ากาลปาวสานดุจเดียวกัน

วันประกาศอิสรภาพ

ภาพส่วนหนึ่งจากภาพยนตร์ ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ขณะที่ทรงหลั่งน้ำจากสุววรณภิงคารลงสู่พื้นดิน

ครั้นแล้วจึงมีพระราชโองการตรัสสั่งท้าวพระยาเสนามุขมนตรีทั้งปวงให้ยกทัพกลับพระนคร พร้อมทั้งกวาดต้อนครอบครัวรามัญตามรายทางมาด้วย ครั้นพอข้ามแม่น้ำสะโตงมา เสียงครืนครั่น เสียงช้าง เสียงม้าจากกองทัพพม่าก็ตามมาถึงอีกฟากฝั่งหนึ่ง ของแม่น้ำสะโตงได้ยิงสู้กันเป็นสามารถ เราเองประทับพระแสงปืนต้นยิงถูกสุรกันมาแม่ทัพพม่าตาย ทัพพม่าจึงล่าถอยกลับไป

นับแต่นั้นเป็นต้นมา เราก็ต้องทำศึกกับพม่าแทบตลอดเวลา คือศึกภายนอก แม้ว่าจะได้ชื่อว่ามีอิสรภาพ แต่บุคคลที่ไม่เห็นด้วยกับการประกาศอิสรภาพในคราวครั้งนั้นมีมากมายเพราะเห็นว่าความเป็นอยู่อย่างเดิมสบายดีอยู่แล้ว นี่เองคือศึกภายใน

ที่เล่าให้ฟังมาโดยย่อทั้งหมดนี้ เพื่อให้สำเหนียกไว้ว่า ความยุ่งยากเดือดร้อนจะต้องเกิดขึ้นเสมือนในปีพุทธศักราช๒๑๒๗ และทุกครั้งที่เวียนมาบรรจบครบรอบหนึ่งร้อยปี แต่ก็เพื่อจะก้าวหน้าขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง อย่างไรก็ตาม เราจะไม่ตกหรือกลับกลายไปเป็นอย่างอื่นอย่างแน่นอน แต่ความยุ่งยากเดือดร้อนก็จะยังคงมีอยู่ทั่วไปไม่สิ่นสุด แม้ต้นเค้าแห่งสิ่งชั่วร้ายจะถูกทำลายไปแล้วและแก่นแห่งคุณความดี ก็ได้บังเกิดขึ้นแผ่พลังรังสีแล้วก็ตาม แต่เมฆหมอกแห่งความชั่วร้ายก็ยังมิได้จางหายไป มิหนำซ้ำพลังมือมัวจากบุคคลผู้เป็นมิจฉาทิฏฐิก็ได้แผ่เพิ่มเติมเมฆหมอกแห่งความชั่วร้ายให้ดำมืดหนาทึบขึ้นอีกจนปกคลุมให้แก่เค้าแห่งคุณความดีสลัวลง จงอดทนอดกลั้นแผ่เมตตาธรรม และจงภูมิใจเถิด ถ้าสิ่งที่ก่อให้เกิดความทุกข์นั้นเป็นเพื่อความดี

ตั้งแต่โบราณมานั้นคำว่า “สาธุ” จะแทนคำว่า”ขอบใจ” ในสมัยปัจจุบัน เมื่อมีความรู้สึกซาบซึ้งถึงสิ่งที่ใครๆแสดงน้ำใจต่อเรา ขอทุกคนจงได้รับคำว่า “สาธุ” เถิด เมื่อสิ่งที่ก่อให้เกิดทุกข์ในจิตใจนั้น และเป็นสิ่งซึ่งบุคคลนั้นๆจะต้องอดทนเพื่อความดี”

หลักฐานที่ปรากฏในพระราชพงศาวดารฉบับต่างๆมีการระบุปีจุลศักราช วันที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงประกาศอิสรภาพชาติไทยมีดังนี้

ฉบับพันจันทนุมาศระบุว่าเป็น “ปีกุน สัปตศก จุลศักราช ๙๓๗”
ฉบับพระราชหัตถเลขากับฉบับสมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรสความตรงกันว่า “ปีขาล อัฐศก จุลศักราช ๙๒๘”
ฉบับหลวงประเสริฐฯระบุว่าเป็น “ปีวอก ฉศก จุลศักราช ๙๔๖”
                ทางเราได้เทียบช่วงเวลา ตามข้อมูล แรมสามค่ำ เดือนหก ปีวอก ตามปฏิทินจัทรคติ จะตรงกับช่วงปลายเดือนเมษายนถึงต้นเดือนพฤษภาคม  ซึ่งแต่ละปีวันจะไม่ตรงกัน แต่ทางเรายึดถือช่วงเวลานี้เป็นช่วงสดุดีพระวีรกรรมในสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเป็นสำคัญ ช่วงเวลาที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงประกาศอิสรภาพแด่ประชาชนชาวสยาม

บทความข้างต้นที่ทางเรายกมาให้เพื่อนสมาชิกได้อ่านกัน ทำให้เราได้เห็นถึงความเสียสละในสมเด็จพระนเรศวรมหาราชที่ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณจนหาที่สุดมิได้ ทรงรักและเป็นห่วงประชาชน ทรงเสียสละความสุขส่วนพระองค์ โดยพระองค์มิทรงเลือกความสุขสบาย ซึ่งอาจจะไปกระทบความสบายของคนบางกลุ่มในยุคนั้นที่เห็นการเป็นเมืองขึ้นนั้นสบายอยู่แล้ว แต่พระองค์ท่านทรงเห็นความสุขของประชาชนส่วนใหญ่ โดยพระองค์ได้ตรัสว่า”นับแต่วันนี้ไปผืนแผ่นดินไทยแลลูกหลาน สายเลือดไทย จะต้องไม่ตกเป็นทาษของใครๆหรือสิ่งใดๆ อันมิได้ตั้งอยู่ในครรลองแห่งสัจธรรม จะต้องมีอิสรภาพตลอดไปตราบเท่ากาลปาวสานดุจเดียวกัน” ทั้งศึกภายนอกและศึกภายในที่พระองค์ทรงต้องแบกรับปัญหาอันยิ่งใหญ่ในครั้นนั้น เพียงเพื่อประชาชนอันเป็นที่รักของพระองค์

              สุดท้ายนี้ทางเรายังคงซึ่งปณิธาน ในการเผยแพร่พระประวัติในสมเด็จพระนเรศวรมหาราชและประวัติศาสตร์ชาติไทย รากเหง้าแห่งคุณความดีและวัฒนธรรมอันยาวนาน อันเป็นที่รักและหวงแหนของเรา และเพื่อสดุดีในพระวีรกรรมในสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ในการกระทำยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชมังสามเกียด…องค์นเรศทรงเป็นมหาราชผู้ ยิ่งใหญ่ มหาราชผู้เกรียงไกร มหาราชผู้ทรงสถิตย์ในดวงใจของคนไทยที่รักชาติรักแผ่นดินทุกคน บุญใดกุศลใด ที่ข้าพเจ้าได้กระทำมาแล้วในอดีตชาติทุกภพทุกชาติ ปัจจุบันชาติแลอนาคตกาลเบื้องหน้า ขอถวายเป็นพระราชกุศลแด่ดวงพระวิญญาณของพระองค์ขอพระองค์ทรงมีพระญาณบารมี สูงๆยิ่งๆขึ้นไปเพื่อปกปักรักษาสยามประเทศให้รอดพ้นจากภยันตรายทั้งปวง แลขอพระบารมีแห่งพระองค์ทรงอภิบาลทหาร พลเรือน ทุกหมู่เหล่าที่มีใจรักชาติ รักแผ่นดินให้แคล้วคลาดจักทำการใดให้สำเร็จทุกประการ
แม้นชาตินี้จักเป็นเพียงเศษเสี้ยวธุลีดิน ก็จักขอถวายความภักดีทุกชาติไป


Posted in ตามรอยพระนเรศวร.

Leave a Reply

Your email address will not be published.