พระสุพรรณกัลยา

พระสุพรรณกัลยามาในมุมมองของนักประวัติศาสตร์พม่า

พระสุพรรณกัลยามาในมุมมองของนักประวัติศาสตร์พม่า

                เมื่อปี ๒๕๕๑ ทีมงานเพจเรารักสมเด็จพระนเรศวร มีโอกาสได้ไปร่วมงานเสวนาเรื่อง **โกษาปานกับราชสำนักพม่า** ณ มิวเซียมสยาม ในงานนี้ได้พบกับ มิกกี้ ฮาร์ท (Myin Hsan Heart) สถาปนิกชาวพม่า ผู้สนใจศึกษาประวัติศาสตร์พม่า และไทยได้แปลเอกสารหลักฐานของพม่าที่กล่าวถึงพระสุพรรณกัลยาใน ̏ โยเดียกับราชวงศ์พม่า: เรื่องจริงที่ไม่มีใครรู้ ̋ โดยได้กล่าวถึงชีวิตในกรุงหงสาวดีของพระสุพรรณกัลยาไว้ได้อย่างน่าสนใจว่า

พระสุพรรณกัลยาทรงเป็นพระธิดาองค์ที่สอง ในสมเด็จพระมหาธรรมราชาและพระวิสุทธิ์กษัตริย์ ทรงมีพี่น้องร่วมพระบิดามารดาเดียวกันสี่พระองค์ มีพระนางอินทร์เทวีเป็นพระเชษฐภคินีองค์โต พระองค์เป็นองค์ที่สอง(๙)พระนเรศวรเป็นพระอนุชาองค์โต และพระเอกาทศรถเป็นพระอนุชาองค์เล็ก… ภายหลังจากที่พระมหาธรรมราชา พระบิดาของพระองค์ทรงขึ้นครองราชย์ ณ กรุงศรีอยุธยาเมื่อ ๕ ค่ำ เดือนตุลาคม พ.ศ.๒๑๑๒(หลังกรุงศรีฯแตก ครั้งที่ ๑)ได้ทรงถวายพระองค์แด่พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง ขณะนั้นพระองค์มีพระชนมายุ ๑๗ พรรษา และพระเจ้าบุเรงนองได้ทรงพระราชทานพระนามใหม่ว่า อมโรรุ้ง

            ภายหลังกรุงศรีอยุธยาแตก พระเจ้าบุเรงนองทรงประทับที่พระราชวังกรุงศรีอยุธยาระยะหนึ่ง เพื่อทรงปรับปรุง และจัดระเบียบกองทัพใหม่อีกครั้ง เพราะภารกิจของกรุงศรีอยุธยาเสร็จสิ้นลงหลังจบศึกก็จริงอยู่ แต่ศัตรูของพระมหาธรรมราชยังไม่หมด ศัตรูที่ขัดแย้งกันอยู่ในพระราชวัง เช่น ราชวงศ์สุพรรณภูมินั้นไม่เป็นปัญหา จับไปเป็นเชลยและส่งไปอยู่ที่กรุงหงสาวดีก็ได้ แต่ปัญหาที่ยังแก้มิได้ ก็คือ ศึกระหว่างอยุธยากับพระเจ้าไชยเชษฐาล้านช้าง หากพระเจ้าไชยเชษฐาเกิดทรงแข็งข้อ ยกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาเมื่อไร กรุงศรีอยุธยาก็จะแตกอีก เพราะในเวลานี้กองทัพของพระมหาธรรมราชาเองนั้นก็เหลือกำลังทหารอยู่ไม่มาก และส่วนใหญ่ก็อ่อนแรงเหนื่อยล้าจากการทำศึกกับกรุงศรีอยุธยามามากแล้ว

พระสุพรรณกัลยา

 พระบรมราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระสุพรรณกัลยา ภายในค่ายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช กองทัพภาคที่๓

                เพื่อเป็นการตัดไฟเสียแต่ต้นลม พระเจ้าบุเรงนองจึงทรงยกทัพขึ้นไปปราบนครล้านช้าง เมื่อวันศุกร์ ขึ้นหกค่ำ เดือนพฤศจิกายนพ.ศ.๒๑๑๒ และโปรดให้พระสุพรรณกัลยา พร้อมบริวารรับใช้ ๑๕ คนเสด็จตาม  การปราบอาณาจักรล้านช้างกินเวลานานถึงหกเดือน หลังจากนั้นจึงทรงยกทัพกลับ และเสด็จถึงพิษณุโลกเมื่อวันที่ ๒ เดือนมิถุนายน พ.ศ.๒๑๑๓ จากนั้นทรงมีรับสั่งให้กองทหารพักเป็นเวลา ๕ วัน เมื่อถึงวันที่ ๗ ก็ทรงเสด็จกลับหงสาวดี และถึงหงสาวดีวันเสาร์ที่ ๑๐ เดือนกรกฎาคม…

…ในช่วงรัชสมัยของพระเจ้าบุเรงนองนั้น พระสุพรรณกัลยาทรงพระเกษมสำราญ มีทุกอย่างเพียบพร้อม บ่าวไพร่ก็เป็นคนไทยหมด ฐานะยศตำแหน่งก็เป็นพระมเหสี และยังมีพระตำหนักกับฉัตรส่วนพระองค์อีกด้วย (ภาษาพม่าเรียกกันว่า นันยะที้ยะมิพย้า นันแปลว่า พระตำหนัก ยะ แปลว่าได้ ที้ แปลว่าฉัตร ยะแปลว่าได้)
ได้ฉัตรหมายความว่า เมื่อเสด็จออก จะด้วยเสลี่ยงพระที่นั่ง หรือพระพาหนะอื่นก็ตาม เจ้าหน้าที่ซึ่งภาษาพม่าเรียกว่า ที้ตอโม้ จะต้องตามไปกางร่มฉัตรถวาย บุคคลที่มาจากตระกูลธรรมดาที่ไม่ได้เป็นเชื้อพระวงศ์ไม่มีสิทธิ์ได้ตำแหน่งหรือยศลักษณะนี้เลย ตามราชธรรมเนียมโบราณของราชวงศ์พม่า หญิงที่จะตั้งเป็นพระมเหสีได้นั้นต้องกำเนิดจากขัตติยวงศ์เท่านั้น
…ในเวลาที่พระสุพรรณกัลยาทรงเป็นพระมเหสีในพระเจ้าบุเรงนองนั้น พระอัครมเหสีเหลือเพียงแค่พระนางจันทราเทวีหรือตะละแม่จันทราเพียงองค์เดียวเท่านั้น บทบาทในวังหลังก็ไม่โดดเด่นนัก ด้วยว่าพระชนมพรรษามากแล้ว พระสุพรรณกัลยาจึงทรงประทับได้อย่างสบายพระทัย ไม่ทรงลำบากนัก แม้ว่าจะต้องประทับไกลบ้านก็ตาม

**ส่วนเรื่องพระราชโอรสและพระธิดามิกกี้ฮาร์ทได้กล่าวว่า
พระสุพรรณกัลยาได้ทรงครรภ์ตั้งแต่ตอนที่พระเจ้าบุเรงนองกำลังทรงศึกกับล้านช้างที่เมืองลโบ(ปัจจุบันอยู่ชายแดนระหว่างไทยลาว) เมื่อเสด็จมาถึงกรุงหงสาวดีได้ไม่นาน พระธิดาพระองค์น้อยก็ประสูติ เมื่อ พ.ศ.๒๑๑๓ พระเจ้าบุเรงนองทรงโสมนัสมาก พระราชทานนามพระธิดาพระองค์น้อยว่า เจ้าภุ้นชิ่(ผู้มีบารมีและสติปัญญา) แต่พระองค์ทรงพอพระทัยที่จะเรียกพระธิดาของพระองค์โดยชื่อเล่นว่า มังอะถ้อย(เจ้าหญิงน้อย)
ในพระราชพงศาวดารพม่าได้บันทึกว่าพระสุพรรณกัลยาเป็นพระมเหสีที่พระเจ้าบุเรงนองทรงโปรดปรานมาก โดยทรงจัดให้สร้างตำหนักทรงไทยขึ้นในพระราชวังกรุงหงสาวดี



ด้วยเหตุที่พระเจ้าบุเรงนองเสด็จออกราชการสงครามอยู่เสมอ ทำให้พระสุพรรณกัลยารวมทั้งพระมเหสีองค์อื่นทรงดำเนินชีวิตในพระราชวังตามปกติ โดยมิได้เส็ดจออกงานหรือเห็นโลกภายนอกจนกว่าที่พระเจ้าบุเรงนองจะเสด็จกลับหงสาวดีจึงจะมีการจัดงานสำคัญ โดยในวันเพ็ญเดือนมีนาคม พ.ศ.๒๑๑๖ มีงานบูชาพระมหาเจดีย์ชเวดากอง พระสุพรรณกัลยาพร้อมด้วยพระราชธิดาองค์น้อยได้ประทับเรือพระที่นั่งโดยเสด็จพระเจ้าบุเรงนองไปบำเพ็ญพระราชกุศลนาน ๕ วัน นับเป็นครั้งแรกที่พระองค์ได้เสด็จออกนอกพระราชฐานมานานว่า ๓ ปี  หลังจากงานบูชามหาเจดีย์จบสิ้นลง พระเจ้าบุเรงนองได้นิมนต์พระสงฆ์พม่า มอญ เชียงใหม่ และไทใหญ่ ๓, ๕๐๐ รูป เจริญพระพุทธมนต์ และทำพิธีพุทธาภิเษกพระพุทธรูปหล่อด้วยทองคำ เงิน สำริด และปัญจโลหะ อย่างละองค์ ในการนี้พระเจ้าบุเรงนองได้ทำการเฉลิมพระยศพระราชโอรส และพระราชธิดา โดยในการนี้ เจ้าหญิงเจ้าภุ้นชิ่ พระราชธิดาในพระสุพรรณกัลยาได้รับพระราชทานตำแหน่งเป็น พิษณุโลกเมียวซา เนื่องจากพระบิดามอบสิทธิ์ในภาษีประจำปีที่ได้จากพิษณุโลกให้แก่พระองค์ นับแต่นั้นมาทุกคนจึงขานพระนามพระราชธิดาพระองค์นี้ว่า เจ้าหญิงพิษณุโลก

**ส่วนเรื่องการสิ้นพระชนม์ของพระพี่นางฯมิกกี้ ฮาร์ท (Myin Hsan Heart) นักประวัติศาสตร์ชาวพม่าก็ได้นำเสนอข้อมูลที่แตกต่างออกไป

มิกกี้ ฮาร์ทได้กล่าวไว้ในหนังสือที่เค้าเขียนดังนี้ค่ะ

…ระยะเวลา ๑๒ ปีแรกในพระราชวังกัมโพชะสาดีเมืองหงสาวดีของพระสุพรรณกัลยานั้น เป็นช่วงที่ดีและทรงพระเกษมสำราญมากที่สุด แม้ว่าจะไม่ได้ทรงพบพระสวามีอยู่เนืองๆ ด้วยว่าพระสวามีมักจะทรงภารกิจที่แนวหน้า ประทับในสนามรบเสียเป็นส่วนใหญ่ แต่ท่านก็ทรงพระเกษมสำราญตามสมควร แต่ที่สุดแล้วชะตาของพระองค์ก็ถึงจุดเปลี่ยนผัน

เมื่อวันเพ็ญที่ ๑๕ เดือนพฤศจิกายน พ.ศ.๒๑๒๔ พระเจ้าบุเรงนองเสด็จสวรรคตพระโอรสของพระเจ้าบุเรงนอง ทรงพระนามว่าพระเจ้านันทบุเรง เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่ ยังผลให้ตำแหน่งพระมเหสีของพระสุพรรณกัลยากลายเป็นอดีตทันที และต้องทรงย้ายออกจากพระราชวังไปประทับ ณ พระตำหนักส่วนพระองค์นอกเขตพระราชฐานเช่นเดียวกันกับเหล่าวงศานุวงศ์ของพระเจ้าบุเรงนองพระองค์อื่นๆ ตามธรรมเนียมประเพณีที่ถือปฏิบัติกันมา
อนึ่ง กรุงหงสาวดีเกิดน้ำท่วมหนักอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ในปีที่พระเจ้าบุเรงนองสวรรคต พระสุพรรณกัลยาเสด็จพระราชดำเนินพร้อมกับเจ้าหญิงน้อยมาประทับ ณ ตำหนักส่วนพระองค์ที่สร้างไว้ก่อนล่วงหน้าแล้ว พระราชวังงามสง่าที่พระนางเคยประทับอย่างอบอุ่นและผาสุกร่มเย็น ๑๒ ปีเต็มๆ นั้นเป็นอดีตไปแล้ว แต่ก็มิได้มีความกังวลพระทัยมากนักเพราะหลังจากทรงมีพระธิดาองค์น้อยๆแล้ว พระนางก็ทรงประทับที่พระตำหนักส่วนพระองค์นอกเขตพระราชฐานเสียเป็นส่วนใหญ่ เรื่องนี้เป็นธรรมเนียมของราชวงศ์ แม้แต่อัครมเหสี ถ้าหากทรงมีพระโอรสหรือพระธิดาแล้ว ส่วนใหญ่จะเสด็จออกมาประทับที่พระตำหนักส่วนพระองค์ ซึ่งอยู่นอกเขตพระราชฐาน ฉะนั้น แลเมื่อวันหนึ่งที่พระโอรสองค์ใดองค์หนึ่งของพระองค์ขึ้นครองราชย์ พระองค์จะทรงเป็นพระชนนีของพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่ ก็จะทรงประทับอยู่นอกพระราชฐาน ฉะนั้น พระมเหสีทุกพระองค์จึงมีพระตำหนักส่วนพระองค์ทั้งนั้น จะใหญ่หรือเล็กขึ้นอยู่กับพระยศของแต่ละองค์…

มีความสำคัญอีกประการที่ มิกกี้ ฮาร์ท ได้ให้ข้อคิดเห็นที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิง คือ เรื่องที่ว่าพระสุพรรณกัลยาเป็นชายาของพระเจ้านันทบุเรงต่อจากพระเจ้าบุเรงนองพระราชบิดา



…ถึงแม้ว่าพระเจ้าบุเรงนองผู้ทรงเป็นพระสวามี และพระบิดาของเจ้าหญิงน้อยจะสวรรคตไปสองปีแล้วก็ตาม แต่ชีวิตของพระสุพรรณกัลยาก็ทรงดำเนินไปตามปกติ นอกเสียจากว่าตำแหน่งพระมเหสีได้เปลี่ยนมาเป็นพระชนนีเท่านั้น และตอนนี้พระนางก็ทรงมีพระชนมายุ ๓๑ พรรษาแล้ว ตรงนี้ ข้าพเจ้าขออธิบายอีกสักนิดเกี่ยวกับนักแต่งประวัติศาสตร์เลียนแบบนิยายส่วนใหญ่ที่นิยมเขียนว่าพระเจ้านันทบุเรงเอาพระสุพรรณกัลยาเป็นเมียหลังจากพระเจ้าบุเรงนองสวรรคตแล้วนั้น ข้าพเจ้าขอถามสักนิดว่าตรงนี้ ท่านใช้ข้อมูลใดมาอ้างอิง? หลักฐานการบันทึกถึงครอบครัวพระเจ้านันทบุเรง(Royal Family Tree of Nanda Bayin) ในพงศาวดารทุกฉบับไม่เคยปรากฏพระนามของพระสุพรรณกัลยาแม้แต่นิดเดียว อย่าว่าแต่พระมเหสีเลย แม้แต่รายชื่อในตำแหน่งพระสนมก็ไม่มี หากเป็นเช่นนี้แล้วท่านยังอยากจะพูดหรือเขียนอีกหรือว่าพระสุพรรณกัลยาเป็นเมียนันทุบุเรง ข้าพเจ้าขอถามหน่อยว่าเมียลักษณะไหน? เมียเก็บหรือ ถ้าอ้างอย่างนี้ก็ไม่ดีนะ หมายความว่าไม่ให้เกียรติพระนางเลยทั้งๆที่พระนางเป็นถึงพระธิดาในพระมหาธรรมราชา และเป็นพระเชษฐภคินีของพระเจ้าแผ่นดินกรุงศรีอยุธยาทั้งสองพระองค์ทีเดียว ประเพณีขัตติยวงศ์นั้นนิยมสมรสกันระหว่างพี่น้องด้วยกันก็จริงอยู่ แต่ไม่มีการเอาเมียพ่อมาเป็นเมียลูกแน่นอน…

***มิกกี้ฮาร์ทยังได้กล่าวถึงพระธิดาของพระพี่นางสุพรรณกัลยาอีกว่า
กล่าวถึงเจ้าภุ้นชิ่ หรือเจ้าหญิงพิษณุโลกได้ตามเสด็จพระราชมารดาออกมาประทับนอกพระราชวังกัมโพชธานี โดยเจ้าหญิงเจ้าภุ้นชิ่ได้เสกสมรสกับ เจ้าเกาลัด พระโอรสของเจ้าอสังขยา เจ้าเมืองตะลุป ซึ่งเป็นชาวไทใหญ่ ซึ่งเป็นที่ปรึกษาของพระเจ้ามังรายกะยอชวา โอรสองค์ที่สองของพระเจ้านันทบุเรง และมีพระธิดาด้วยกัน คือ เจ้าหญิงจันทร์วดี ซึ่งหมายความว่า ในช่วงสงครามยุทธหัตถี พ.ศ.๒๑๓๕ พระสุพรรณกัลยามิได้ประทับอยู่ในหงสาวดีแต่ทรงประทับอยู่ในอังวะ จนกระทั่งในปี พ.ศ.๒๑๓๗ พระเจ้าตองอู พระเจ้านยองยัน และพระเจ้าเชียงใหม่ ต่างแยกตัวเป็นอิสระจากหงสาวดี พระเจ้านยองยันจังได้เข้าครองกรุงอังวะที่เจ้าหญิงพิษณุโลก และพระมารดาอาศัยอยู่ อีกทั้งยังเป็นผลดีแก่ทั้งสองพระองค์ด้วย เนื่องจากพระเจ้านยองยันนั้นเป็นพระโอรสองค์หนึ่งของพระเจ้าบุเรงนอง ทั้งยังมีความคุ้นเคยกับเจ้าอสังขยาบิดาของเจ้าเกาลัด จึงคาดได้ว่า ภายใต้การปกครองของพระเจ้านยองยันพระสุพรรณกัลยารวมถึงเจ้าหญิงพิษณุโลกก็ยังทรงประทับในนครอังวะอย่างปกติสุขจนกระทั่งสิ้นพระชนม์ โดยมิได้ถูกปลงพระชนม์แต่อย่างใด



บรรณานุกรมเว็บไซต์

หน้าแรก

Posted in เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยประวัติศาสตร์ไทย.

Leave a Reply

Your email address will not be published.