ในอดีตเมืองห้างหลวงหรือเมืองหางมีความสำคัญกับสยามมาช้านานสันนิษฐานว่า พื้นที่นี้เป็นเส้นทางเดินทัพที่สำคัญในอดีต ปัจจุบันอยู่ในรัฐฉานของประเทศพม่า มีพื้นที่ติดต่อกับประเทศไทยที่อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ พื้นที่นี้เดิมทีเป็นของชนกลุ่ม
น้อยชาวไต โดยมีดินแดนติดต่อกับพม่าและไทย ในบริเวณนี้เองมีพระสถูปที่มีการสร้างมานานแล้วและชาวไตมีความเคารพนับถือ มาก เรียกพระสถูปแห่งนี้ว่า “กองมูขุนหอคำไต”
กองมูขุนหอคำไตมีความหมายในภาษาไทยว่า สถูปของพระมหากษัตริย์ สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นเพื่อระลึกถึงกษัตริย์ของชาวไต (ขุนหอคำ ใช้กล่าวถึงกษัตริย์ ไตใช้กล่าวถึงชนชาติไต) ต่อมาชาวไตได้ทำรูปบูชาจำลองภาพขุนหอคำไตเป็นรูปและพระนามของพระ นเรศวร จึงทำให้ทราบว่าคำว่า ”กษัตริย์ไต” หมายถึงกษัตริย์ในอดีต ซึ่งในอดีตดินแดนแถบนั้นเคยขึ้นกับอาณาจักรอยุธยา สมเด็จพระนเรศวรจึง เคยมีฐานะเป็นกษัตริย์ของชนชาวไต ประกอบกับความเชื่อของชาวไตที่สืบทอดกันต่อมา จึงพอจะสรุปได้ว่า กองมูขุนหอคำไต ที่สร้างขึ้นนั้นเพื่อเป็นอนุสรณ์สถานที่สวรรคตของสมเด็จพระนเรศวรนั่นเอง
พระสถูปพระนเรศวรมหาราช ณ อนุสรณ์สถานค่ายหลวง บ้านดอนแก้ว
เรื่องนี้ชาวไทยที่พักอาศัยติดกับชายแดนพม่าทราบดีแต่ไม่นาน อนุสรณ์สถานกองมูขุนหอคำไตนี้ก็ได้ถูกทหารพม่าใช้รถไถทำลายสิ้นเนื่องจากทาง ทหารพม่าสืบทราบมาว่าทุกครั้งก่อนออกรบชาวไตได้กราบไหว้บวงสรวงขอพร ขอพระบารมีพระนเรศวรคุ้มครองก่อนออกรบและก็ชนะทุกครั้ง ทหารพม่าจึงเข้าทำลายที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของชนชาวไตพังทลายจนไม่เหลือรากฐาน แต่ชาวไตก็ยังรวบรวมเอาเศษอิฐเศษดินนั้นไว้กราบไหว้บูชา และหลังจากนั้นเรื่องได้เล่ามาถึงชาวไทยที่อาศัยในแถบนั้นมานาน หลายคนทราบว่าที่นั้นเป็นที่สวรรคตของสมเด็จพระนเรศวรและเคยเข้าไปกราบไหว้ จึงได้ชักชวนให้นำเศษอิฐเศษดินของอนุสรณ์สถานมาสร้างเป็นที่ระลึกถึงพระ นเรศวร บริเวณชายแดนทางฝั่งอำเภอเชียงดาว เขตตำบลเมืองงาย ชาวบ้านได้ตกลงเลือกสถานที่ที่เกี่ยวพันกับพระนเรศวรจึงได้มติเลือกสถานที่ สำคัญคือบริเวณบ้านทุ่งดอนแก้วซึ่งในอดีตสมเด็จพระนเรศวรได้เคยหยุดพักทัพ ที่นี่ ก่อนเสด็จข้ามไปเมืองหางและสันนิษฐานว่าทรงประชวรจนกระทั่งสิ้นพระชนม์ที่เมืองหาง (บ้าน ทุ่งดอนแก้วพบหลักฐานเป็นสระน้ำ ร่องรอยขุดปรับเนินดินสำหรับตั้งตำหนักชั่วคราวในค่ายหลวง)
บริเวณค่ายหลวงพระนเรศวรจำลอง ณ สถูปพระนเรศวร เมืองงาย
ต่อมาในปีพ.ศ.๒๕๐๒ พ่อค้าประชาชน ข้าราชการและพ.ต.อ.นิรันดร ชัยนาม ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ในขณะนั้น ต่างสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงกระทำศึกเพื่อรักษาสยามประเทศตลอดที่พระองค์มีพระชนม์ชีพอยู่ จึงได้ร่วมกันจัดสร้างอนุสรณ์แด่พระองค์ขึ้น และบริเวณเมืองงาย ตำบลเมืองงาย อำเภอเชียงดาว และสถานที่นี้เป็นเส้นทางเดินทัพในอดีต พระองค์เลือกที่นี่เป็นที่ตั้งค่าย โดยมีหลักฐานปรากฏชัดจากไม้รั้วค่ายซึ่งยังมีอยู่มากในบริเวณนั้น จึงร่วมสร้างพระสถูปบรมราชานุสรณ์พระนเรศวรขึ้นที่ตรงนั้นโดยครอบเศษอิฐเศษปูนที่ชาวไตนำมาจากฝั่งพม่า และอนุรักษ์สระน้ำที่เชื่อกันว่าพระนเรศวรได้สรงพระวรกายและสร้างตำหนักค่ายหลวงจำลอง อันเป็นพระตำหนักชั่วคราวให้ชนรุ่นหลังได้ศึกษาและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินไปบวงสรวงดวงพระวิญญาณสมเด็จพระนเรศวร เมื่อวันที่ ๒๕ มกราคม ๒๕๐๘ ณ ที่แห่งนี้ และเมื่อวันที่ ๒๔ พฤษภาคม ๒๕๑๑ ได้ทรงเจิมและทรงพระสุหร่ายศิลาฤกษ์และแผ่นอิฐซึ่งได้มาจากพระเจดีย์องค์ เดิม ซึ่งประดิษฐาน ณ เมืองหาง รัฐไทยใหญ่ สหภาพพม่า ก่อนถูกทำลาย(ในการเสด็จมาในครั้งนี้นี่เอง ที่เกิดเรื่องมหัศจรรย์ที่สมเด็จพระเจ้าอยู่และพระราชินี เป็นที่มาของบทเพลงพระราชนิพนธ์ ความฝันอันสูงสุด)
นอกจากนั้นในวันที่ ๑๕ มกราคม ๒๕๑๒ ได้เสด็จฯ มาเป็นประธานในพระราชพิธีพุทธาภิเษก ณ วัดพระสิงห์วรวิหารฯ เพื่อทรงเททองเป็นปฐมฤกษ์ ด้วยพระบารมีของล้นเกล้าล้นกระหม่อมทั้งสององค์ ประชาชนได้มาร่วมพิธีและเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทอย่างล้นหลาม และประชาชนได้มาสั่งจองพระบูชาฯ พระเครื่องและสิ่งที่สร้างขึ้นในคราวนี้จนหมด สามารถมีทุนเพียงพอในการที่จะนำไปก่อสร้างพระสถูปเจดีย์และพระอนุสาวรีย์ ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๑๓ ทางจังหวัดได้เรียนเชิญ พลเอก หลวงกัมปนาท แสนยากร องคมนตรี ไปเป็นประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์บรรจุแผ่นอิฐและบรรจุพระกริ่ง พระเครื่อง ไว้ในองค์พระสถูปเจดีย์ ในงานนี้ประชาชนได้เกิดความศรัทธาอย่างแรงกล้านำแก้วแหวนเงินทองและสิ่งมี ค่าอื่นๆ มาสมทบบรรจุไว้ในองค์พระสถูปนี้อย่างมากมาย และเมื่อวันที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๑๓ จังหวัดได้นำความขึ้นกราบบังคมทูลเพื่ออัญเชิญเสด็จฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ไปเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดอนุสรณ์และพระสถูปเจดีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราชา นุสรณ์ ซึ่งได้โปรดเกล้าฯ เสด็จฯ ในวันที่ ๑๒ มกราคม ๒๕๑๔
ซึ่งสถูปพระบรมอัฐิสมเด็จพระนเรศวรมหาราชาทางกรมศิลปากรเป็นผู้ออกแบบและปั้น เสร็จเรียบร้อยเมื่อเดือนกันยายน ๒๕๑๓ และเททองหล่อหลอม เมื่อวันเสาร์ที่ ๒๖ กันยายน ๒๕๑๓ ตรงกับวันแรม ๑๑ ค่ำ เดือน ๑๐ และตบแต่งแล้วเสร็จในในเดือนพฤศจิกายน ๒๕๑๓ จากนั้นก็ได้อัญเชิญไปประดิษฐาน ณ สถูปเจดีย์ที่สร้างขึ้น เพื่อทันประกอบพิธีเปิดและฉลองในเดือนมกราคม ๒๕๑๔
โดยมีลักษณะดังนี้
๑. ขนาดสูงประมาณ ๒ เมตร
๒. ลักษณะเป็นพระรูปยืนประทับแท่น
๓. เครื่องทรง ชุดเครื่องทรงออกศึก พระหัตถ์ซ้ายทรงพระแสงดาบ พระหัตถ์ขวาทรงพระเต้าในลักษณะหลั่งน้ำทักษิโณธก
๔. ไม่สรวมพระมาลา
๕. หล่อด้วยโลหะรมดำ