หลังจากปีใหม่ได้รับทราบข่าวดีจากทาง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เตรียมจัดพิมพ์ธนบัตรชนิดราคา ๕๐ บาท และในครั้งนี้เป็นที่กล่าวขวัญกันมาก เพราะธนบัตรฉบับ ๕๐ บาท ในครั้งนี้ด้านหลังได้นำพระบรมฉายาลักษณ์ของพระนเรศวรมหาราชขณะทรงหลั่ง ทักษิโณทก ประกาศอิสระ
ภาพไม่เป็นเมืองขึ้นต่อพม่า ที่สำคัญมีการออกนำมาใช้เมื่อวันที่ ๑๘ มกราคม พ.ศ.๒๕๕๕ เพื่อรำลึกถึงวันที่ ทรงทำยุทธหัตถีมีชัยเหนือพระมหาอุปราชาของพม่า พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ผู้ทรงกอบกู้เอกราชชาติไทยและเป็นที่เคารพรัก ของประชาชนชาวไทยที่สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่พระองค์ทรงเสียสละเพื่อแผ่นดิน
เรามาดูความหมายด้านหลังแบงค์ พระบรมฉายาลักษณ์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ในแบงค์ ๕๐ ใหม่กันดีกว่า
แบงค์๕๐ ใหม่
ด้านหลังเป็น พระบรมฉายาลักษณ์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช
ด้านหลังแบงค์ ๕๐ ใหม่นี้ จะพบกับพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงหลั่งทักษิโณทก ซึ่งต้นฉบับของภาพมาจาก พระบรมรูปสมเด็จพระนเรศวรมหาราชที่ ประดิษฐาน ณ มหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก เหตุการณ์นี้มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ หากย้อนไปในอดีตเมื่อครั้งประเทศไทยตกเป็นเมืองขึ้นของพม่าถึง๑๕ ปี ก่อนที่พระองค์จะทรงประกาศอิสระภาพ ณ เมือง แครง เมื่อพุทธศักราช ๒๑๒๗
“พระแสงดาบคาบค่าย” เป็นครั้งที่ สมเด็จพระนเรศวรทรงนำทัพทหาร และเอาพระองค์นำหน้าทหารในการปล้นค่ายของพม่าด้วยพระองค์เอง และทรงคาบพระแสงดาบขึ้นปล้นค่ายพระเจ้าหงสาวดี ซึ่งเหตุการณ์ในครั้งนี้ทำให้ทหารพม่าเสียขวัญมากต่างจากทหารไทยที่ฮึกเฮิม เพราะในสมัยนั้นมิมีกษัตริย์พระองค์ใด ออกทัพโดยนำหน้าด้วยพระองค์เอง
สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงทำศึก ยุทธหัตถีมีชัยชนะ เหนือพระมหาอุปราชา เมื่อวันที่ ๑๘ มกราคม พ.ศ. ๒๑๓๕ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงเป็นวีรกษัตริย์นักรบผู้มีพระปรีชาสามารถยิ่ง ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ พระองค์แรกที่กอบกู้เอกราชให้ชาติไทย โดยเฉพาะวีรกรรมที่ทรงกระทำยุทธหัตถี กับ พระมหาอุปราชาแห่งพม่า นั้น เป็นที่เลื่องลือมาจนถึงปัจจุบัน และทำให้ประเทศไทย ไม่มีข้าศึกกล้ามารุกรานประเทศไทยยาวนานถึง ๑๕๐ ปี ซึ่งวันที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชมีชัยชนะนี้ ตรงกับวันจันทร์ที่ ๑๘ มกราคม พ.ศ. ๒๑๓๕ หรือเมื่อ ๔๑๙ ปีล่วงมาแล้ว(ปัจจุบัน๒๕๕๕)
ยุทธหัตถี หมายถึง การต่อสู้ด้วยอาวุธบนหลังช้าง เป็นการรบอย่างกษัตริย์สมัยโบราณ กล่าวกันว่า ในชมพูทวีป (ดินแดนที่เป็นอินเดีย ปากีสถานเนปาลและบังคลาเทศในปัจจุบัน) ถือเป็นคติมาแต่ดึกดำบรรพ์ว่า ยุทธหัตถีหรือการชนช้างเป็นยอดยุทธวิธีของนักรบ เพราะเป็นการต่อสู้อย่างตัวต่อตัว แพ้ชนะกันด้วยความคล่องแคล่ว แกล้วกล้า กับความชำนาญในการขับขี่ช้างชน โดยมิต้องอาศัยรี้พลหรือกลอุบายแต่อย่างใด เพราะโดยปกติ ในการทำสงคราม โอกาสที่จอมทัพทั้งสองฝ่าย จะเข้าใกล้ชิดจนถึงชนช้างกันมีน้อยมาก
หลังจากที่พระองค์ทรงมีชัยชนะจากการทำศึกยุทธหัตถีในครั้งนั้น สมเด็จพระวันรัต วัดป่าแก้ว ทรงแนะนำให้สร้างพระเจดีย์ขึ้น ประดิษฐานอยู่๒ แห่งคือ ๑.สถูปเจดีย์ยุทธหัตถี อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี ๒.วัดใหญ่ชัยมงคล หรือที่เรียกกันติดปากว่า พระเจดีย์วัดใหญ่ชัยมงคล จ.พระนครศรีอยุธยา เพื่อเป็นอนุสรณ์เฉลิมพระเกียรติในการทำยุทธหัตถีมีชัยชนะเหนือพระมหาอุป ราชา แห่งพม่า เมื่อพุทธศักราช ๒๑๓๕ พระเจดีย์ที่เป็นนิมิตหมายของเอกราชเตือนใจให้ระลึกถึงความกล้าหาญและความ เสียสละของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชและวีรชนไทย
ความหมายที่แฝงอยู่ในธนบัตร๕๐ บาท รุ่นใหม่นี้ มิใช่เพียงมีค่าทางกฏหมายเท่านั้น ยังเป็นเครื่องเตือนใจให้เราปวงชนชาวไทยได้ตระหนักถึงความเหนื่อยยากของคน สมัยก่อนที่ยอมตายเพื่อที่จะรักษาแผ่นดินเกิดนี้ไว้ให้ลูกหลาน และที่สำคัญเป็นเครื่องเตือนใจให้เรารำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรง เสียสละความสุขส่วนพระองค์ในการทำศึก หากใครได้ศึกษาประวัติของพระนเรศวรมหาราชจะทราบดีว่าตลอดพระชนม์ชีพของ พระองค์ทรงทำศึกตลอดเวลา พระองค์ทรงเป็นกษัตริย์ที่ครองราชย์อยู่ในพระนครน้อยที่สุด เพียง ๒ ปี