พระเจ้าบุเรงนองกะยอดินนรธา ทรงเป็นพระเจ้าจักรพรรดิที่ยิ่งใหญ่ได้รับสมญาว่าพระเจ้าชนะสิบทิศ ทรงเป็นพระมหาธรรมราชาที่ทรงทศพิธราชธรรมได้รับการยกย่องจากนานาประเทศทรงทำนุบำรุงและเผยแผ่พระพุทธศาสนา ยกเลิกการฆ่าบูชายัญและความเชื่อที่เป็นมิจฉาทิฏฐิ ทรงได้ประเทศราชคือ อยุธยา ล้านนา ล้านช้าง ไทยใหญ่ มอญ มณีปุระ(กะแซ) ประเทศที่ไม่ใช่เมืองออกก็ยอมรับในพระราชอำนาจ เช่น ลังกา โปรตุเกส เขมร และ ยะข่าย ทรงเป็นผู้รวบรวมพม่าให้เป็นปึกแผ่น ได้รับการยกย่องให้เป็น ๑ ใน ๓ กษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของพม่า (อีกสองคือ อโนรธามังช่อ และ อลองพญา) และชาวพม่าทั่วไปยังถือว่าพระองค์เป็นวีรบุรุษที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ เช่นเดียวกับคนไทยที่รู้สึกถึงสมเด็จพระนเรศวรมหาราชวีรบุรุษที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย
พระเจ้าบุเรงนอง พม่าออกเสียงว่า “บะ ยิ่ง เหน่าง์” ไทยมักออกเสียง “เหน่าง์” ว่า “หน่อง” ซึ่งจะง่ายต่อการออกเสียงมากกว่า
“บะยิ่ง ที่เขียนมี จุด พินทุ ข้างล่าง แปลว่า “ของพระราชา”
ถ้าไม่มีจุดข้างล่าง จะกลายเป็นเสียง “บะหยิ่ง” แปลว่า “พระราชา
“เหน่าง์” แปลว่า “พี่ชาย” (แต่ในความเป็นจริง บุเรงนอง มีศักดิ์เป็นพี่เขยของพระเจ้าตะเบ็งชเวตี้)
พระนามที่เป็นที่รู้จักคือ บุเรงนอง กะยอดินนรธา หรือบางคนออกเสียงว่า บายิ่นหน่อง จอถิงนรธา(Bayinnaung Kyaw Htin Nawratha)
พระนามเดิมของพระองค์คือ
Cha Thet : จะเด็ด หรือ จะเต๊ะ (ไทยเรียก จะเด็ด) แปลว่า เจ้าปลวกไต่
จะ แปลว่า ปลวก , เต็ต แปลว่า ไต่
เนื่องจากมีตำนานว่าเมื่อยังเป็นทารกมีปลวกไต่เต็มตัวแต่ไม่ได้รับอันตราย
Shin Ye Tut : เชงเยทุต แปลว่า เจ้าผู้ยอดกล้า
เชง – เจ้า , เย – กล้าหาญ , ทุต น่าจะแปลว่า ยอด
ทรงได้รับฉายานามนี้ตั้งแต่วัยเยาว์ เพราะเป็นขุนพลผู้กล้าหาญ เช่น เมื่อครั้งอายุ ๑๕ ได้ตามเสด็จพระเจ้าตะเบงชเวตี้พร้อมด้วยทหารเพียง ๕๐๐ นาย เพื่อทำพิธีเจาะพระกรรณและเกล้ามวยผมตามประเพณีถ้าเปรียบกับไทยคือพระราชพิธีโสกันต์ (โกนจุก) ณ พระธาตุมุเตา (ชเวมอร์ดอร์) อันอยู่ชานกรุงหงสาวดีซึ่งขณะนั้นยังไม่ได้ตกเป็นของพม่า ท่ามกลางวงล้อมของข้าศึกทหารมอญเป็นจำนวนมากและต้องฝ่าวงล้อมเพื่อกลับตองอู
พระราชทินนาม/บรรดาศักดิ์/ยศศักดิ์
Kyaw Htin Nawratha : จอเดงนรธา / (ไทยเรียก กะยอดินนรธา) = กฤษฎานุรุทธ์ แปลว่า ผู้มีกฤษฎาภินิหาร , ผู้ทรงเดชา
ได้ราชทินนามนี้ภายหลังพระเจ้าตะเบงชเวตี้ขึ้นครองราชย์ (พ.ศ. ๒๐๗๔) และได้อภิเษกสมรสกับตะเกงจีพระพี่นางของพระเจ้าตะเบงชเวตี้แล้ว (ขณะนั้นบุเรงนองอายุ ๑๙ ประมาณ พ.ศ. ๒๐๗๗)
Bayinnaung – บาเยงนอง (ไทยเรียก บุเรงนอง)/ โปรตุเกส เรียก Braginoco
บาเยง – เจ้าเมือง , นอง – พี่
บาเยงนอง = พระเชษฐา(ผู้เป็นเจ้าเมือง) ซึ่งได้รับหลังจากแสดงวีรกรรมที่สมรภูมินองโย (พ.ศ. ๒๐๘๒) คราวยกทัพติดตามพระเจ้าสการะวุตพี่กษัตริย์มอญ ที่หนีจากหงสาวดีไปขอความช่วยเหลือจากพระเจ้านรบดีกษัตริย์เมืองแปรเป็นวีรกรรมที่ยิ่งใหญ่ของบุเรงนองในยุคแรก จนถึงกับมีการแต่งวรรณกรรมถึงชัยชนะในครั้งนี้และรับพระราชทานให้ขึ้นรั้งเมืองลาย(Hling)เป็นรางวัล พร้อมทั้งนาม “บาเยงนองดอ” (พระเชษฐาธิราช)ในฐานะที่เป็นพี่ร่วมแม่นม และพี่เขย ซึ่งตำแหน่งนี้เทียบเท่ามหาอุปราชา
นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมานาม “บาเยงนอง” หรือ “บาเยงนอง จอเดงนรธา” (บุเรงนอง กะยอดินนรธา)ก็เป็นที่รู้จักกันทั่วในทุกชนชาติ จนแม้บุเรงนองขึ้นครองราชย์แล้ว พระนามนี้ก็เป็นที่รู้จักมากกว่าพระนามอื่นๆจนมาถึงปัจจุบัน
พระนามภายหลังครองราชย์
พระนามอย่างเป็นทางการเมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์ประมาณ พ.ศ. ๒๐๙๔ คือ พระเจ้าสิริตรี ภวนาทิตยา ปวรปัณฑิต สุธรรมราชา
(สิริตรีภวนาทิตยาปวรปัณฑิตสุธรรม มหาราชาธิบดี, ศรีตรีภวนาทิตยาบวรบัณฑิต สุธรรมราชามหาธิบดี, สิริตรี ภวนา ดิทา บวร บัณฑิต สุธรรมราช) เรียกโดยย่อ สิริสุธรรมราชา
มีสมัญญามากมาย เช่น
พม่า
หานตาวดีเซงพยูมยาเชง (Hanthawady Hsinbyu-myashin)
(หานตาวดีเซงพยูมยาตะเกง,หานตาวดีเซงพยูเชง Hanthawady Hsinbyshin) ซึ่งแปลว่า “พระเจ้าหงสาวดีช้างเผือก”
เซงพยูเชงนีมยาตะเกง ภวเชงเมงตยาจีพะยา – พระมหาธรรมราชา พระเจ้าช้างเผือกแลช้างเนียม
(Min – เมง = กษัตริย์ , ตยา – ธรรม , เชง (Shin) , ตะเกง –กษัตริย์ , เซงพยูมยา – มีช้างเผือกหลาเชือก หรือหลายประเภทก็ได้) , Hanthawady – หานตาวดี = หงสาวดี
Min Ekaraj
เมง เอกระ – พระเจ้าเอกราช ผู้เป็นใหญ่ในชมพูทวีป
มอญ
Tala Nah jamnah Duih Cah
ตะละพะเนียเทอเจาะ – พระเจ้าชนะสิบทิศ (สมญานี้เป็นที่รู้จักแพร่หลาย)
Tala Nah – เจ้า , jamnah – ผู้ชนะ , Duih – ทิศ , Cah – สิบ
พงศาวดารมอญ – พม่า ที่แปลเมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๐ เรียกฝรั่งมังตรี
ในพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐเอ่ยนามพระเจ้าหงสาวดี ๓ องค์
๑ . พระเจ้าหงสาปังเสวกี (ตะเบงชเวตี้)
๒ . พระเจ้าหงสานิพัตร (บุเรงนอง)
๓ . พระเจ้าหงสางาจีสยาง (งะสุทายะกะ คือ นันทบุเรง)
ในพงศาวดารที่ชำระในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์เรียกพระองค์ว่า “สมเด็จพระเจ้ากรุงหงสาวดีลิ้นดำ” (โดยหมายถึงทั้งตะเบงชเวตี้และบุเรงนอง เพราะในสมัยนั้นคิดว่าเป็นองค์เดียวกัน) สมเด็จพระเจ้าสิบทิศ
พงศาวดารโยนก เรียก เจ้าฟ้าบยินนอง
สังคีติยวงศ์ เรียกว่า เอโก ราชา หงสานคร รชชํ แปลว่า “พระเจ้าเอกราช” ผู้ครองราชย์สมบัติในหงสานคร (พระเจ้าเอกราช คือ พระเจ้าจักรพรรดิผู้ครองทวีปเดียวคือชมพูทวีป ความหมายเดียวกับ เมง เอกระ )
ในจารึกบนระฆังที่บุเรงนองให้สร้างขึ้นออกพระนามว่า “สิริปรมมหาธัมมราชา” และพระอัครมเหสี (พระพี่นางของตะเบงชเวตี้)ว่า สิริอัคคมหาธัมมราชเทวี
บุเรงนอง กะยอดินนรธา ประสูติเมื่อ วันพุธ ขึ้น ๑๒ ค่ำ เดือนดะโบ๊ดแว Tabodwe (เดือน ๓ ประมาณ กุมภาพันธ์)จ.ศ. ๘๗๗ = พ.ศ. ๒๐๕๘
(ถ้านับแบบปีใหม่สากลคือ พ.ศ. ๒๐๕๙ เพราะสมัยนั้นเปลี่ยนศักราชวันสงกรานต์ กุมภาพันธ์จึงเป็นปลายปี เหตุนี้จึงตรงกับ ค.ศ. ๑๕๑๖)
ครองราชย์เมื่อ วันอาทิตย์ ขึ้น ๗ ค่ำ เดือนดะโบ๊ะดแว (เดือน ๓ ประมาณกุมภาพันธ์)จ.ศ. ๙๑๒ = พ.ศ.๒๐๙๓
(ถ้านับแบบปีใหม่สากลคือ พ.ศ. ๒๐๙๔) ค.ศ ๑๕๕๑ พระชนมายุ ๓๕ พรรษา
สวรรคต วันอังคาร ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนนะด่อ (เดือน ๑๒ ประมาณ พฤศจิกายน) จ.ศ. ๙๔๓ = พ.ศ. ๒๑๒๔ =ค.ศ ๑๕๘๑
ระยะเวลาในการครองราชย์ ๓๐ ปี พระชนมายุเกือบ ๖๖ พรรษา
พ.ศ. ๒๐๒๙ พระเจ้าสิริมหาชัยยะสุระ (เมงจีโย หรือ มังกะยินโย) ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์ตองอู (พ.ศ. ๒๐๒๙ – ๒๒๙๕) ขึ้นเถลิงราชย์เมืองตองอูเกตุมดี
พ.ศ. ๒๐๕๘ กำเนิด “จะเด็ด” (เรื่องเป็นลูกไพร่หรือลูกเจ้ายังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่)
ตามตำนานว่า เป็นบุตรของสิงคะสุ คนปาดตาล เกิดที่งะสะยอก แขวงเมืองพุกาม (บ้างก็ว่าเกิดที่บ้าน Hti-hlaing เมืองตองอู)เมื่อเกิดมีปลวกไต่เต็มตัวแต่ไม่ได้รับอันตรายจึงได้ชื่อว่า จะเต็ต
เนื่องจากพุกามแห้งแล้งจึงอพยพไปตองจินจี วันหนึ่งบิดามารดาทิ้งจะเด็ดไว้บนพื้นขณะไปทำงาน มีงูใหญ่มาพันรอบตัวแต่ไม่ได้รับอันตราย จึงได้พาจะเด็ดไปหาพระเถระซึ่งได้ทำนายว่าให้ย้ายไปอยู่ตองอู ทั้งครอบครัวจึงไปอาศัยอยู่ที่อารามของพระขัตติยาจารย์ของพระเจ้าเมงจีโย
พ.ศ. ๒๐๕๙ ตะเบงชเวตี้ ประสูติ (หลังจะเด็ด ๓ เดือน) ตามตำนานกล่าวว่า พระขัตติยาจารย์พามารดาของจะเด็ดเข้าวังไปเป็นแม่นม ทำให้จะเด็ดได้เป็นพี่ร่วมนมกับตะเบงชเวตี้ ภายหลังลอบรักกับตะเกงจี (พระพี่นางต่างชนนีของตะเบงชเวตี้)จนจะถูกลงโทษแต่พระขัตติยาจารย์มาช่วย จึงแค่ถูกขับออกไปเป็นพนักงานผู้น้อยในกรมวัง และด้วยความขยันขันแข็งจึงได้เลื่อนยศเป็นทหารระดับสูง
พ.ศ. ๒๐๗๐ กรุงอังวะเสียให้แก่โมนยินซึ่งเป็นไทยใหญ่ (ฉาน) ทำให้ชาวพม่าอพยพมาสู่ตองอูซึ่งกลายเป็นศูนย์กลางของพม่าแห่งใหม่
พ.ศ.๒๐๗๔ พระเจ้าสิริมหาชัยยะสุระสวรรคต พระเจ้าตะเบงชเวตี้ขึ้นครองราชย์ ทรงพระนาม เมงตยายะเวที(ไทยเรียก เมงตยา ว่า มังตรา)และเสด็จไปทำพิธีเจาะพระกรรณเกล้ามวยพระเกศา ที่ธาตุมุเตาชานกรุงหงสาวดีของข้าศึกมอญพร้อมด้วย “เชงเยทุต”(จะเด็ด)และทหารเพียง ๕๐๐ ท่ามกลางวงล้อมของทหารมอญจำนวนมหาศาลและต้องฝ่าวงล้อมเพื่อกลับตองอู โดยได้ตั้งพระราชปณิธานต่อพระธาตุว่าจะตีกรุงหงสาวดี และขอพรพระธาตุให้ได้ครองหงสาวดี ๓ ชั่วคน
พ.ศ. ๒๐๗๗ เชงเยทุต ได้เป็นที่ “จอเดงนรธา” (กะยอดินนรธาหรือกฤษฎานุรุทธ์)ภายหลังจากที่ได้สมรสกับ ตะเกงจี
พ.ศ. ๒๐๗๕ เมืองแปรเสียให้อังวะ (ไทยใหญ่) ตองอูต้องเร่งขยายอำนาจเพื่อเตรียมต้านทานไทยใหญ่โดยการตีหงสาวดีซึ่งเป็นเมืองท่าที่มั่งคั่ง
พ.ศ. ๒๐๗๘ – ๘๑ สงครามตองอู – หงสาวดี จบลงด้วยชัยชนะของตะเบงชเวตี้ แล้วย้ายเมืองหลวงจากตองอู มาหงสาวดี
พ.ศ. ๒๐๘๒ – ๘๓ วีรกรรมที่สมรภูมินองโยซึ่งเป็นวีรกรรมทางทหารที่ยิ่งใหญ่ของบุเรงนองในยุคแรกถึงกับมีการแต่งวรรณกรรมสรรเสริญชัยชนะครั้งนี้ ตะเบงชเวตี้รับสั่งให้จอเดงนรธาเป็นแม่ทัพไล่ตามพระเจ้าสการะวุตพีกษัตริย์มอญที่หนีไปเมืองแปร บุเรงนองได้เผชิญหน้ากับข้าศึกที่มีจำนวนมากกว่า(พม่า = แปร ,มอญ =หงสา,ไทยใหญ่=ที่ยึดครองอังวะและได้แปรเป็นเมืองขึ้น)โดยมีแม่น้ำขวางกั้นอยู่ บุเรงนองสั่งให้ทำแพสะพานข้ามเมื่อกองทัพข้ามหมดแล้วก็ให้ทำลายทิ้ง และประกาศให้ทหารทุกคนบุกไปข้างหน้าเพราะไม่มีที่ให้ถอยอีกแล้วมีแต่ชนะหรือตายเท่านั้นทำให้ทหารต้องสู้ตายจนได้รับชัยชนะ ก่อนการประจัญบานบุเรงนองได้รับพระราชโองการให้รอทัพหลวงของตะเบงชเวตี้แต่บุเรงนองกลับสั่งให้ทหารเข้าตี
เมื่อบุเรงนองตอบกลับมาว่าได้รับชัยชนะแล้วกลับทำให้ตะเบงชเวตี้ปลาบปลื้มมากและได้แต่งตั้งให้เป็น บาเยงนองดอ (พระเชษฐาธิราช)พร้อมทั้งได้เมืองลายเป็นบำเหน็จ คนทั่วไปจึงรู้จักกันในนาม บาเยงนอง จอเดงนรธา แต่ศึกคราวนี้ไม่สามารถตีเมืองแปรได้ ต่อมาสการะวุตพี ทิวงคตลงทำให้ขุนนางมอญยอมสวามิภักดิ์จำนวนมาก ตะเบงชเวตี้ได้พยายามสร้างความกลมเกลียวระหว่างมอญกับพม่าโดยรับธรรมเนียมมอญมาปฎิบัติ อาทิ การโพกผ้าและทำพิธีราชาภิเษกอย่างมอญที่หงสาวดีเป็นต้น อีกทั้งมีการแต่งตั้งเจ้านายฝ่ายมอญให้รับตำแหน่งและเครื่องยศอย่างเหมาะสม
เมื่อได้ครองหงสาวดีจึงตั้งสิงคะสุ บิดาของบุเรงนองเป็นพระเจ้าตองอู (จากเหตุนี้จึงน่าเชื่อว่าพ่อของบุเรงนองเป็นเชื้อพระวงศ์) โดยฝ่ายที่ว่าบุเรงนองเป็นลูกเจ้ากล่าวว่าบิดาของบุเรงนองชื่อ เมงเยสีหตู เป็นเชื้อพระวงศ์หรือขุนนางระดับสูง – ราชครู)
พ.ศ. ๒๐๘๔-๘๕ หลังจากเสริมกำลังกองทัพและได้ว่าจ้างทหารโปรตุเกสและมุสลิม(ทให้ใกล้ชิดกับพวกโปรตุเกสมาก)ตะเบงชเวตี้ก็ได้เคลื่อนทัพเข้าตีเมาะตะมะ สอพินยา (เจ้าพญา? น้องเขยสการะวุตพี) เจ้าเมืองขอเจรจาแต่การเจรจาไม่สำเร็จ เมืองถูกตีแตกและถูกปล้นสะดม สอพินยาจึงถูกประหาร
พ.ศ. ๒๐๘๕ – ๘๗ ยกไปล้อมเมืองแปรซึ่งในขณะนั้นพระเจ้ามังฆ้องได้ครองราชย์แทนพระเจ้านระบดีพระเชษฐา (พระเจ้านระบดีเป็นพี่เขยสการะวุตพี พระเจ้ามังฆ้องเป็นลูกเขยพระเจ้าอังวะ)
เข้าตีครั้งแรกไม่สำเร็จ กองทัพไทยใหญ่จากอังวะยกมาช่วย (เพราะแปรเป็นประเทศราช และเพื่อสกัดอิทธิพลของตะเบงชเวตี้)บุเรงนองยกออกไปรับและตีไทยใหญ่แตกพ่ายไป จนหน้าฝนตะเบงชเวตี้จึงสั่งให้ทหารทำนาและเกณฑ์ทหารเพิ่มจากเมืองมอญ
เมื่อกองทัพยะไข่ (อาระกัน) ยกมาช่วย บุเรงนองก็ออกไปดักซุ่มโจมตีจนต้องหนีไปเช่นกัน สุดท้ายเมืองแปรก็แตกและถูกลงโทษอย่างหนักเพราะเป็นเสี้ยนหนามมายาวนาน พระเจ้าแปร พระราชวงศ์และขุนนางผู้ใหญ่ถูกประหารอย่างน่าอนาถ
พระเจ้าตะเบงชเวตี้ตั้งน้องชายต่างมารดาของบุเรงนองเป็นพระเจ้าแปรนาม สะโดธรรม(ผู้ที่ชนช้างกับพระสุริโยทัย พม่าออกเสียงว่า ตะโดธรรมราชา)
เมื่อกลับถึงหงสาวดีก็ทรงสถาปนาพุทธาวาสและเจดียสถานเพื่อแสวงบุญกุศลล้างบาปจากสงคราม
พ.ศ. ๒๐๘๗ – ๘๘ โสหันพวา (เสือหาญฟ้า)ซึ่งครองเมืองอังวะดุร้ายมากจึงเกิดกบฏ ขุนเมืองแงได้เป็นพระเจ้าอังวะ ได้ระดมหัวเมืองไทยใหญ่ยกมาตีแปรแต่ก็แตกพ่ายไป ตะเบงชเวตี้จึงยกทัพขึ้นเหนือตีดินแดนพม่าตอนบนคืนมาได้หมดแต่ยังมิได้อังวะ
จากนั้นได้ทำพิธีราชาภิเษกเป็น “ราชาธิราช” จักรพรรดิผู้รวมพุกามประเทศ ที่เมืองพุกาม อันเป็นเมืองหลวงพม่าโบราณสมัยจักรวรรดิพุกาม จึงนับเป็นการเริ่มยุคจักรวรรดิที่ ๒ ของพม่า (ที่ ๓ คือ สมัยราชวงศ์อลองพญา พ.ศ. ๒๒๙๕ – ๒๔๒๘)
พ.ศ. ๒๐๘๙ – ๙๐ เจ้าเมืองทรางทวย (สันโทเว) หน้าด่านยะไข่ใต้ขอสวามิภักดิ์ แลจะนำกองทัพเข้าช่วยตียะไข่ โดยขอตำแหน่งเจ้าเมืองยะไข่เป็นรางวัล จึงเกิดสงครามกับยะไข่
พ.ศ. ๒๐๙๑ หลังจากล้อมยะไข่เป็นเวลานาน อีกทั้งมีข่าวอยุธยาฉวยโอกาสที่หงสาฯติดพันศึกยะไข่ยกทัพมาตีเมืองทวายเมื่อยะไข่ส่งพระสงฆ์มาเจรจาหย่าศึก ตะเบงชเวตี้จึงยอมรับ และสั่งเจ้าเมืองเมาะตะมะให้เกณฑ์ทหารมอญและตะนาวศรีเพื่อยกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาในสงครามคราวเสียสมเด็จพระสุริโยทัย
หลังจากล้อมกรุงจนเสบียงหมดเนื่องจากไม่ได้เตรียมการมาดีนัก จึงถอยทัพขึ้นทางเหนือตีได้หัวเมืองเหนือหลายเมือง โดยให้บุเรงนองเป็นกองทัพระวังหลัง เมื่อกองทัพอยุธยาตามมาถึง ตะเบงชเวตี้รับสั่งให้รอทัพหลวงก่อนแต่แม่ทัพรองคนอื่นๆไม่ได้รับแจ้งจึงเข้าตี บุเรงนองเห็นเช่นนั้นเกรงคนครหาว่าขี้ขลาดไม่กล้าเข้าตีจึงยอมตายเพราะขัดราชโองการดีกว่า คิดดังนั้นก็ขัดรับสั่งเข้าตีแลได้ชนช้างกับเหล่าเจ้านายและขุนนางไทยหลายคน ได้รับชัยชนะจับเชื้อพระวงศ์และขุนนางไทยได้
เมื่อตะเบงชเวตี้มาถึงจึงกริ้วมาก รับสั่งว่าเหตุใดจึงขัดราชโองการ เมื่อบุเรงนองชี้แจงเหตุผล จึงมิได้ถูกลงโทษ และได้ตบรางวัลแก่แม่ทัพนายกอง โดยเฉพาะ มังเอิน ลูกชายบุเรงนอง (มีศักดิ์เป็นหลานน้าตะเบงชเวตี้)ซึ่งมีอายุเพียง ๑๓ แต่แสดงความกล้าหาญในการสงครามเข้าช่วยพ่อ (บุเรงนอง)รบกับข้าศึก จึงพระราชทานนามให้ว่า มังไชยสิงห์ (ต่อมาคือ พระเจ้านันทบุเรง)
*เกร็ดเพิ่มเติม*
“เมงเยสีหตู บิดาของบุเรงนองก็เป็นบุคคลสำคัญที่พระเจ้าตะเบงชเวตี้เคารพโดยมีฐานะเป็นถึง พระอาจารย์ ที่ปรึกษา ขุนนางคนสำคัญ และมีอีกสถานะหนึ่งคือเป็นพ่อตาของพระเจ้าตะเบงชเวตี้ด้วย โดยบุตรสาวของเมงเยสีหตู เป็นมเหสีองค์หนึ่งของพระเจ้าตะเบงชเวตี้ (ซึ่งอาจจะเป็นไปได้ว่า เมงเยสีหตู นามเดิม สิงคะสุ จะเป็นคนปาดตาลมาก่อนตามตำนาน) (เมงเยสีหตู : สีหะสุ – สิงคะสุ)
พ.ศ. ๒๐๙๒ ตะเบงชเวตี้เจรจาหย่าศึกกับอยุธยาแล้วก็เสด็จกลับหงสาวดีแต่ศึกครั้งนี้เสียทหารพม่ารามัญมากมายตะเบงชเวตี้โทมนัสมากจนเปลี่ยนอัธยาศัยจากที่เคยแข็งขันในราชกิจไม่ลุ่มหลงในกามคุณ กลายเป็นคนขี้เมาหยำเปจนไม่สามารถว่าราชการได้ โดยมีหลานของเจมส์ ซอเรซ นายทหารโปรตุเกสเป็นเพื่อนกินเหล้า
บุเรงนองจึงขับไล่ฝรั่งหนุ่มออกไปและพยายามรักษาบ้านเมืองไว้ มีขุนนางพม่ารามัญเชิญให้บุเรงนองครองราชย์แทนเพื่อประโยชน์แก่บ้านเมือง แต่บุเรงนองไม่ยอมด้วยจงรักภักดีต่อตะเบงชเวตี้เป็นอย่างยิ่ง
ฝ่ายพวกมอญที่ไม่พอใจที่ถูกพม่ากดขี่เกณฑ์คนไปทำสงครามไม่หยุดหย่อนจึงเห็นเป็นโอกาส โอรสพินยาราน(พญาราม)และเป็นน้องต่างมารดากับสการะวุตพีซึ่งบวชอยู่ด้วยเกรงราชภัยจากพระเชษฐาได้สึกออกมาเป็นหัวหน้ากบฎนามว่า สมิงทอราม (เตารามะ)
ตะเบงชเวตี้รับสั่งให้บุเรงนองไปปราบกบฏ บุเรงนองไม่วางใจในความปลอดภัยของตะเบงชเวตี้จึงทูลให้เจ้าลครอินท์คอยรักษาพระองค์แต่ตะเบงชเวตี้ไม่เชื่อ บุเรงนองจึงต้องยกทัพไปด้วยความไม่สบายใจ
พ.ศ. ๒๐๙๓ สมิงสอตุดเจ้าเมืองจิตตอง(เป็นเชื้อวงศ์มอญ คนสนิทของพระเจ้าตะเบงชเวตี้ตำแหน่งกรมวัง)ลอบเป็นมิตรกับสมิงทอรามและได้หลอกพระเจ้าตะเบงชเวตี้ว่ามีช้างเผือก ตะเบงชเวตี้จึงให้เจ้าลครอิท์ยกไปเตรียมการคล้องช้าง และพระองค์ก็ข้ามฟากไปตั้งค่ายที่บ้านกะสา สมิงสอตุดเห็นได้ทีจึงให้น้องชายที่รักษาพระองค์ฟันพระเศียรขาด เมื่อวันพุธ แรม ๑ ค่ำ เดือน ๖ รวมพระชนม์ ๓๔ พรรษา
สมิงสอตุดก็ได้ขึ้นครองหงสาวดี
สีหะสุ(สีหะตู) น้องชายต่างมารดาของบุเรงนองที่ได้เป็นพระเจ้าตองอูแทนบิดาที่ตายไปเมื่อ ๒ ปีก่อน ได้หนีออกจากหงสาวดีที่ตนรักษาอยู่ไปตองอูและตั้งตัวเองเป็นอิสระนามว่า พระเจ้ามังฆ้อง(เมงข้อง)ฝ่ายสะโดธรรมราชา(นามเดิม นันทโยธา)น้องต่างมารดาอีกคนของบุเรงนองที่ได้เป็นพระเจ้าแปรก็ตั้งตนเป็นอิสระเช่นกัน
เมื่อบุเรงนองได้รับชัยชนะ(แต่จับตัวสมิงทอรามไม่ได้)ก็ได้ทราบข่าวร้าย จึงรีบยกทัพกลับแต่ก็ไม่ทันการณ์ ด้านกำลังทหารก็มีน้อยอีกทั้งชาวมอญก็รังเกียจจึงคิดจะยกไปตองอู บุเรงนองเดินทัพน้อยๆเลียบเมืองหงสาวดีแต่ไม่มีใครเข้าต่อตีด้วยเกรงฝีมือ เมื่อถึงตองอูน้องชายกลับไม่เปิดประตูให้ บุเรงนองจึงต้องถอยไปซ่องสุมผู้คนที่เชิงเขาแห่งหนึ่งแต่ด้วยฝีมือและชื่อเสียงของบุเรงนองจึงมีผู้คนมาเข้าด้วยมากมาย บุเรงนองจึงยกทัพไปตองอูซึ่งน้องชายก็ยอมแพ้แต่โดยดี บุเรงนองก็ไม่ถือโทษให้ครองเมืองต่อไป
จากนั้นยกไปเมืองแปรปรากฏว่าสะโดธรรมราชาหนีกบฏออกจากเมืองไป บุเรงนองจึงปราบกบฏและตามน้องชายมาครองเมืองตามเดิม จากนั้นบุเรงนองก็รวบรวมหัวเมืองในเวิ้งอิระวดีตอนบนได้หมดสิ้นจนถึงเมือง พุกาม ได้ปราบดาภิเษกเป็นกษัตริย์
ข้างหงสาวดีสมิงสอตุดครองเมืองด้วยความโหดร้ายอยู่ได้สามเดือน สมิงทอรามซึ่งหนีไปซ่องสุมผู้คนที่เมาะตะมะได้ยกทัพมาตีหงสาวดีได้ และจับสมิงสอตุดประหารเสีย จากนั้นก็ขึ้นครองหงสาวดีเป็นองค์สุดท้ายของราชวงศ์พระเจ้าฟ้ารั่ว (วาเรรุ -มะกะโท)
พ.ศ. ๒๐๙๔ บุเรงนองยกทัพจากตองอูเข้าตีหงสาวดี สมิงทอรามองอาจไม่ยอมกั้นพระองค์อยู่ในกำแพงจึงยกทัพออกไปรบ แต่ก็พ่ายแพ้หนีไปอยู่เมาะตะมะ หลบหนีอยู่สามเดือนก็ถูกจับส่งมาสำเร็จโทษ
จากนั้นบุเรงนองขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าหงสาวดีตั้งอนุชาต่างมารดาชื่อ ไชยนันท เป็น มางแรจอถิง เจ้าเมืองเมาะตะมะ ตั้งมังไชยสิงห์ราชโอรสเป็นมหาอุปราช (คือพระเจ้านันทบุเรง)
พ.ศ. ๒๐๙๕ พระเจ้าอังวะองค์ใหม่โอรสขุนเมืองแงหนีมาพึ่งบุเรงนอง จึงยกไปตีอังวะครั้งแรกแต่ยังตีไมได้
พ.ศ.๒๐๙๗ ยกไปตีได้เมืองอังวะจับพระเจ้านระบดีไปหงสาวดีและตั้งสะโดเมงสอราชบุตรเขยเป็นพระเจ้าอังวะ บุเรงนองอยู่อังวะหลายเดือนเพื่อดูอาการเจ้าฉาน(เงี้ยว-ไทยใหญ่)ทั้งหลาย
พ.ศ.๒๑๐๐ ไทยใหญ่เกิดปัญหาแย่งชิงอำนาจมีเจ้าตนหนึ่งร้องขอให้อังวะช่วย บุเรงนองจึงขึ้นไปประชุมพลที่อังวะและยกเข้าตีเมืองของเจ้าฟ้า (สอพวา)ไทยใหญ่ทั้งหลาย ทหารพม่ารามัญอยู่ที่ราบเขตร้อนไม่คุ้นเคยกับภูเขาที่หนาวเหน็บ แต่ด้วยเห็นว่าบุเรงนองไม่ครั่นคร้ามเป็นตัวอย่าง จึงเกิดกำลังใจรพุ่งจนได้ชัยชนะ
บุเรงนองให้แก้ไขพระศาสนาเพื่อให้ชาวไทยใหญ่ทั้งหลายนับถือพระรัตนตรัยและมีศาสนาแบบพม่ารวมทั้งยกเลิกการฆ่าสัตว์ฆ่าทาสบูชายัญ
พ.ศ. ๒๑๐๑ ยกไปตีได้หัวเมืองไทยใหญ่ทั้งหมดยกเว้นพวกแสนหวี จากนั้นยกไปตีเมืองเชียงใหม่เพราะเชียงใหม่ช่วยเหลือเมืองนาย พระเจ้าเชียงใหม่ยอมอ่อนน้อมขอเป็นเมืองออก ( เมืองที่สวามิภักดิ์ถวายดอกไม้เงินดอกไม้ทอง) บุเรงนองสั่งให้พญาทะละคุมทหารกองหนึ่งคอยดูแลเชียงใหม่และส่งช่างฝีมือต่างๆ พระสงฆ์และพระไตรปิฎกไปหงสาวดี ส่วนพระองค์เสด็จไปลงโทษเจ้าฟ้าเมืองนาย ยองห้วย และยอกสอกที่เป็นกบฏ
เมื่อกลับถึงอังวะได้ทรงจัดระเบียบภาษีอากรเจ้าฟ้าไทยใหญ่ทั้งปวงก็เดินทางมาอ่อนน้อมจนหมดสิ้น ขณะนั้นมีข่าวพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชแห่งล้านช้างยกมาตีเมืองเชียงใหม่โดยมีพญาแพร่ น่าน ลำปาง เชียงราย และเชียงของร่วมด้วยจึงให้พระเจ้าอังวะไปปราบและได้รับชัยชนะ
พ.ศ. ๒๑๐๒ บุเรงนองกลับหงสาวดี และทำการบำรุงพระศาสนาขนานใหญ่ปลูกฝังให้ราษฎรนับถือพุทธศาสนาห้ามการฆ่าบูชายัญ แต่ก็มิได้กีดกันเบียดเบียนศาสนาอื่น
พ.ศ. ๒๑๐๕ เมืองน้อยบริเวณชายแดนจีนถูกจีนยุยง ยกทัพมาตีเมืองมีดเมืองออกของพม่า บุเรงนองจึงแต่งกองทัพไปปราบเป็นข้าขอบขัณฑสีมาและแก้ไขการศาสนาให้ในเมืองนั้นให้ดีขึ้น
พ.ศ.๒๑๐๖-๒๑๐๗ เกิดสงครามช้างเผือกกับกรุงศรีอยุธยา อยุธยาขอหย่าศึกโดยยอมส่งส่วย ช้าง ๓๐ เชือก เงิน ๓๐๐ ชั่งรวมทั้งภาษีปากเรือท่าเมืองตะนาวศรี ทุกปี และยังได้ช้างเผือก ๔ เชือก จาก ๗ เชือก รวมทั้งพระราเมศวร พระยาจักรี และพระสุนทรสงคราม(พม่าว่าเอาพระมหาจักรพรรดิไปด้วย)รวมทั้งช่างฝีมือต่างๆของอยุธยา
หลังศึกครั้งนี้ยังได้นำพระนเรศวรไปหงสาวดี (เพราะพระมหาธรรมราชา เมืองพิษณุโลกยอมอ่อนน้อม)และได้เลี้ยงดูพระองค์อย่างดีรวมทั้งได้สอนศิลปะศาสตร์และพิชัยสงครามต่างๆ
เมื่อกลับถึงกรุงหงสาวดีโปรดให้สร้างเมืองใหม่เพราะระหว่างติดพันศึกอยุธยาเกิดกบฏ (แต่ปราบได้)เผาเมืองเสียสิ้นเมืองใหม่นี้กว้างขวางใหญ่โตมากฝรั่งที่ได้มาหงสาวดีได้ยกย่องว่าเป็นเมืองที่อลังการที่สุดที่เคยเห็น
บุเรงนองโปรดให้สร้างพระราชวังของพระองค์ที่ชื่อ กัมโพชธานี (Kamboza Thadi Palace) ซึ่งนับเป็นพระราชวังใหญ่โตมีประตูทางเข้าออกถึง ๑๐ ประตู ทิศเหนือห้าประตู ทิศใต้ห้าประตู สร้างโดยเกณฑ์ข้าทาสจากเมืองขึ้นต่างๆโดยหนึ่งในนั้นมีเมืองเชียงใหม่และอยุธยารวมอยู่ด้วย
ทุกครั้งที่ทรงชนะศึกจะเสด็จนำทัพกลับเข้าประตูเมืองที่จะต้องไม่ซ้ำประตูเดิม แล้วจะทรงตั้งชื่อประตูตามชื่อเมืองที่ทรงตีได้ (ประตูโยเดียก็เป็นหนึ่งในนั้น) (ประตูชื่อใดก็ใช้ช่างและแรงงานจากเมืองนั้น)
กล่าวกันว่าพระเจ้าบุเรงนองทรงพระปรีชาสามารถยกทัพไปตีเมืองต่างๆได้จนกระทั่งทรงตั้งชื่อประตูตามชื่อเมืองขึ้นต่างๆ จนครบ ๑๐ ประตูทั้งทางทิศเหนือและทิศใต้จนมีผู้เรียกพระองค์ท่านว่า “พระเจ้าชนะสิบทิศ”
พ.ศ. ๒๑๐๗-๘ ปราบกบฏล้านนา และกลับมาปราบกบฏเชลยไทยใหญ่ที่หงสาวดี
พ.ศ. ๒๑๐๘ รบชนะล้านช้างที่ช่วยล้านนากบฏ และทำการทำนุบำรุงศาสนาสมเป็นธรรมราชา
พ.ศ. ๒๑๑๑ พิษณุโลกยอมเป็นประเทศราชหงสาวดี (อย่างเต็มตัว)เพราะถูกไทยกับลาวรวมกันตีเนื่องจากโกรธที่พระมหาธรรมราชาไปทูลให้บุเรงนองชิงพระเทพกษัตรี (บางหลักฐานว่า พระมหาธรรมราชาลงไม้ลงมือกับพระวิสุทธิกษัตรีย์ ทำให้อยุธยาไม่พอใจ)
พ.ศ. ๒๑๑๑-๑๒ ตีได้กรุงศรีอยุธยา (พม่าบอกว่าพระมหาจักรพรรดิที่ถูกพาไปหงสาวดีขอบวช แล้วลอบกลับมาที่กรุงศรีอยุธยาเพื่อก่อกบฎตั้งพระ) ตั้งพระมหาธรรมราชาเป็นกษัตริย์
ขณะที่บุเรงนองอยู่ที่อยุธยาเพื่อจัดการบ้านเมืองนั้นเขมรได้นำเครื่องราชบรรณาการมาขออ่อนน้อม
พ.ศ. ๒๑๑๒-๑๓ ยกไปตีล้านช้างโดยมีพระสุพรรณกัลยา (ที่พระมหาธรรมราชาถวายหลังครองกรุงศรีอยุธยา)โดยเสด็จด้วย ครั้งนี้ตีไม่สำเร็จแต่ได้ตัวพระอุปราชและพระราชวงศ์ล้านช้างมาไว้หงสาวดี
พ.ศ. ๒๑๑๔ ปราบกบฏหัวเมืองไทยใหญ่ ปีนี้พระนเรศวรได้ไปครองพิษณุโลก
พ.ศ. ๒๑๑๗ พระเจ้าไชยเชษฐาแห่งล้านช้างสวรรคตขณะไปตีเขมร บุเรงนองจึงยกทัพไปตีล้านช้างเพื่อจะให้พระอุปราชลาวที่ทรงเลี้ยงไว้ได้เป็นกษัตริย์ครั้งนี้ตีลาวได้สำเร็จ (พระนเรศวรโดยเสด็จในการสงครามด้วยแต่ทรงประชวรเป็นไข้ทรพิษ บุเรงนองจึงให้กลับ) อีกทั้งยังได้เจ้าหญิงลังกาเป็นมเหสี (โปรตุเกสว่าเป็นแค่บุตรีขุนวัง)
พ.ศ. ๒๑๑๙ ปราบกบฏหัวเมืองไทยใหญ่
พระเจ้ากรุงโคลัมโบในลังกาขอให้บุเรงนองส่งทหารไปช่วยและได้ถวายพระเขี้ยวแก้วเป็นของตอบแทน (พระเขี้ยวแก้วถูกโปรตุเกสทำลายแต่ทำปาฎิหาริย์มาที่กรุงโคลัมโบ) แต่พระเจ้ากรุงแคนดี้บอกว่าของจริงทำปาฎิหาริย์ไปที่กรุงแคนดี้ โดยพระเจ้ากรุงแคนดี้ก็ขอถวายพระเขี้ยวแก้วกับพระธิดาแต่บุเรงนองไม่รับ) บุเรงนองโสมนัสมากให้ทำพิธีอย่างยิ่งใหญ่ ในการนี้บุเรงนองและพระมเหสีตะเกงจี ได้ตัดพระเกศาทำเป็นแส้ถวายพระเขี้ยวแก้ว
พ.ศ. ๒๑๒๒ ตั้งอนรธาเมงสอ (มังนรธาช่อ)ราชโอรสเป็นพระเจ้าเชียงใหม่
พ.ศ. ๒๑๒๓ ให้ยกทัพเรือไปตียะข่าย (ระแข่ง หรือ อาระกัน) ระหว่างทางเจอกองเรือกำปั่นโปรตุเกสได้รบกัน(โปรตุเกสไม่พอใจที่พม่าไปยุ่งในลังกา)กองเรือพม่าได้รับชัยชนะ(เพราะมีจำนวนมาก)และยกพลขึ้นบก เข้าตีเมืองทรางทวย(สันโทเว) และยั้งทัพรอทัพบกที่บุเรงนองจะยกไปเอง
พ.ศ. ๒๑๒๔ ขณะเตรียมยกทัพหลวงไปตียะข่าย บุเรงนองก็สวรรคตเสียก่อนจึงต้องยกทัพกลับ มหาอุปราชนันทบุเรงขึ้นครองราชย์แทน
บุเรงนองทรงมีพระโอรส ๓๘ องค์ พระธิดา ๕๙ องค์ จากพระมเหสีและพระสนมมากมายหลายพระองค์
โดยได้รับพระธิดาจากหลายนครเป็นมเหสีและพระสนม เช่น มอญ พม่า อยุธยา เชียงใหม่ ล้านช้าง ลังกา และหัวเมืองไทยใหญ่ เป็นต้น