วันกองทัพไทย

๑๘ มกราคม วันกองทัพไทย

           วันกองทัพไทยตรงกับวันที่ ๑๘ มกราคม ซึ่งเป็นวันที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงกระทำยุทธหัตถี มีชัยชนะเหนือพระมหาอุปราชามังสามเกียด เมื่อวันที่ ๑๘ มกราคม พ.ศ. ๒๑๓๕ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงเป็นวีรกษัตริย์นักรบที่มีพระปรีชาสามารถยิ่ง ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ พระองค์แรกที่กอบกู้
เอกราชให้ชาติไทย โดยเฉพาะวีรกรรมที่ทรงกระทำยุทธหัตถี กับพระมหาอุปราชามังสามเกียด แห่งพม่านั้น เป็นที่เลื่องลือมาจนถึงปัจจุบัน และทำให้ประเทศไทย ไม่มีข้าศึกกล้ามารุกรานประเทศไทยยาวนานถึง ๑๕๐ ปี ซึ่งวันที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชมีชัยชนะนี้ ตรงกับวันจันทร์ที่ ๑๘ มกราคม พ.ศ. ๒๑๓๕ หรือเมื่อ ๔๑๙ ปีล่วงมาแล้ว(ปัจจุบัน๒๕๕๕)

วันกองทัพไทย

ในอดีต วันที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงกระทำยุทธหัตถีมี ชัยชนะต่อพระมหาอุปราชามังสามเกียด เรียกกันว่า “วันสมเด็จพระนเรศวรมหาราช” และทางกองทัพไทยได้กำหนดให้เป็น “วันกองทัพไทย” ด้วย ซึ่งตรงกับ วันที่ ๒๕ มกราคม ของทุกปี ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๔๘ คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติให้

วันที่ ๒๕ เมษายนของทุกปี เป็น “วันคล้ายวันสวรรคตของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช” และเป็นวันรัฐพิธีแทนวันจันทร์ขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๖ อันเป็นการนับทางจันทรคติ โดยให้มีการวางพวงมาลาและสักการะ แต่ไม่ถือเป็นวันหยุดราชการ และได้กำหนดใหม่ให้วันที่ ๑๘ มกราคม ของทุกปีเป็น “วันยุทธหัตถี” และเป็นวันรัฐพิธีแทนวันที่ ๒๕ มกราคมของทุกปี โดยให้มีการวางพานพุ่มสักการะ แต่ไม่ถือเป็นวันหยุดราชการเช่นกัน การที่มีการเปลี่ยนแปลงวันทั้งสองดังกล่าว ก็ด้วยว่าเป็นการนับวันทางสุริยคติ ซึ่งคนปัจจุบันคุ้นชิน จำได้ง่าย และมีความเหมาะสมมากกว่า อีกทั้ง นายประเสริฐ ณ นคร ราชบัณฑิต ก็ได้คำนวณแล้วพบว่าการนับวันทางจันทรคติของ

วันกระทำยุทธหัตถี เดิมที่ตรงกับ วันจันทร์ เดือน ๒ แรม ๒ ค่ำ จุลศักราช ๙๕๔ ที่กำหนดเป็นวันที่ ๒๕ มกราคม นั้น คลาดเคลื่อน จึงได้มีการเปลี่ยนใหม่ให้ตรงกับความเป็นจริง คือ เป็นวันที่ ๑๘ มกราคมดังกล่าว ดังนั้น ในปัจจุบัน วันที่ ๑๘ มกราคม จึงถือเป็น วันยุทธหัตถี หรือ “วันสมเด็จพระนเรศวรมหาราช”

 ยุทธหัตถี

                ยุทธหัตถี หมายถึง การต่อสู้ด้วยอาวุธบนหลังช้าง เป็นการรบอย่างกษัตริย์สมัยโบราณ กล่าวกันว่า ในชมพูทวีป (ดินแดนที่เป็นอินเดีย ปากีสถาน เนปาลและบังคลาเทศในปัจจุบัน) ถือเป็นคติมาแต่ดึกดำบรรพ์ว่า ยุทธหัตถีหรือการชนช้างเป็นยอดยุทธวิธีของนักรบ เพราะเป็นการต่อสู้อย่างตัวต่อตัว แพ้ชนะกันด้วยความคล่องแคล่ว แกล้วกล้า กับความชำนาญในการขับขี่ช้างชน โดยมิต้องอาศัยรี้พลหรือกลอุบายแต่อย่างใด เพราะโดยปกติ ในการทำสงคราม โอกาสที่จอมทัพทั้งสองฝ่าย จะเข้าใกล้ชิดจนถึงชนช้างกันมีน้อยมาก

ดังนั้น กษัตริย์พระองค์ใดกระทำยุทธหัตถีชนะ ก็จะได้รับการยกย่องว่า มีพระเกียรติยศสูงสุด และแม้แต่ผู้แพ้ก็ได้รับการยกย่องสรรเสริญว่าเป็นนักรบแท้ มิได้ติเตียนกันเลย ซึ่งคติที่ว่า เป็นความนิยมของไทยด้วยเช่นกัน สงครามยุทธหัตถีในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราชนั้น เกิดเมื่อปี พ.ศ. ๒๑๓๕ เมื่อพระเจ้านันทบุเรง

ได้ให้พระมหาอุปราชายกทัพใหญ่มาตีกรุง ศรีอยุธยา หวังจะเอาชนะให้ได้โดยเด็ดขาด สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงทราบข่าวจึงยกทัพหลวงไปตั้งรับที่ดอนเจดีย์ ซึ่งในการต่อสู้กันครั้งนั้น ระหว่างที่การรบกำลังติดพัน ช้างพระที่นั่งของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และพระเอกาทศรถก็พากันไล่ล่าศัตรู จนพาทั้งสองพระองค์ตกไปอยู่ในวงล้อมของข้าศึกโดยไม่รู้ตัว มีเพียงจตุลังคบาท(ผู้รักษาเท้าทั้งสี่ของช้างทรง)และทหารรักษาพระองค์เท่า นั้นที่ติดตามไปทัน แม้จะอยู่ในสภาวะเสียเปรียบ แต่พระองค์ก็มีพระสติมั่น ไม่หวั่นไหว ทรงมีพระปฏิภาณว่องไว ทรงเชิญพระมหาอุปราชาเสด็จมาทำ ยุทธหัตถี ซึ่งพระองค์ก็สามารถกระทำยุทธหัตถีจนได้ชัยชนะอย่างสมพระเกียรติ และนับแต่นั้นมาก็ไม่มีกองทัพใดกล้ายกมาตีกรุงศรีอยุธยาอีกเลย มีแต่ฝ่ายไทยยกไปปราบปรามข้าศึก และทำสงครามขยายอาณาเขตให้กว้างขวางขึ้นกว่าแต่ก่อนสำหรับช้างพระที่นั่งของ สมเด็จพระนเรศวรมหาราชที่มีชัยแก่ข้าศึกในสงครามยุทธหัตถี แต่เดิมมีชื่อว่า “พลายภูเขาทอง” เมื่อขึ้นระวางได้เป็น “เจ้าพระยาไชยานุภาพ” และเมื่อมีชัยก็ได้รับพระราชทานชื่อว่า “เจ้าพระยาปราบหงสา” ส่วนพระแสงของ้าวที่ทรงฟันพระมหาอุปราชา มีชื่อว่า “เจ้าพระยาแสนพลพ่าย”

พระมาลาที่ถูกฟันขาดลงไป ตอนทรงเบี่ยงหลบ มีชื่อว่า “พระมาลาเบี่ยง”

 พระมาลาเบี่ยง

พระมาลาเบี่ยง

สมเด็จพระนเรศวรมหาราชเป็น พระมหากษัตริย์ที่ทรงเชี่ยวชาญการรบยิ่ง ทรงพระปรีชาสามารถในการวางแผน ยุทธวิธีและอุบายกระบวนศึกที่ไม่เหมือนผู้ใดในสมัยนั้น พระองค์ได้ทรงร่ำเรียนทุกสรรพสิ่งจากพระอาจารย์พระมหาเถรคันฉ่องทั้งทางโลก ทางธรรม พระองค์เป็นผู้เลื่อมใสในพระพุทธศาสนามาก เมื่อละจากศึกสงครามพระองค์จะร่วมสนทนาธรรกับพระอาจารย์และวิปัสสนากรรมฐาน อยู่เสมอ เห็นได้จากหลักฐานวิหารพระนอนในวัดใหญ่ชัยมงคล และทางโลกสมเด็จพระนเรศวรทรงเป็นผู้ริเริ่มการรบแบบกองโจร คือ ใช้คนน้อย แต่สามารถต่อสู้กับคนจำนวนมากได้ พระองค์มีความสามารถในการใช้อาวุธที่ทำการรบแทบทุกชนิดอย่างเชี่ยวชาญยากจะ หาผู้ใดเสมอเหมือน

อาวุธที่พระองค์ได้แสดงความสามารถให้ประจักษ์มาแล้ว ได้แก่

๑. ปืน เช่น เหตุการณ์ที่แม่น้ำสะโตง ที่ทรงยิงพระแสงปืนกระบอกหนึ่งยาว ๙ คืบถูกสุรกรรมา

ผู้บังคับกองฯ ของพม่าตายอยู่กับช้าง แสดงว่าทรงปืนแม่นมาก

๒. ดาบ เป็นอาวุธที่พระองค์ทรงชำนาญในการรบประชิด เช่น เมื่อครั้งปีนค่ายพม่า จนมี “พระ

แสงดาบคาบค่าย”

๓. ทวน ในกรณีสังหารลักไวทำมู ทหารพม่าที่จะมาจับพระองค์

๔. ง้าว เช่นในคราวสงครามยุทธหัตถี ที่ทรงใช้พระแสงของ้าวฟันถูกพระอังสะ(ไหล่)พระมหาอุปราชาจนขาดสะพายแล่งสิ้น พระชนม์บนคอช้าง จากเหตุการณ์         ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าพระองค์ทรงมีความสามารถในการใช้อาวุธทั้งสี่ประเภท ได้อย่างดีเยี่ยม ฝีมือการรบของพระองค์นั้นเรียกได้ว่าเก่งกาจจนเป็นที่เกรงขามแก่ ข้าศึกศัตรู ดังปรากฏในพงศาวดารพม่าพอสรุปได้ว่า วันหนึ่งพระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรง ทรงตัดพ้อว่า ไม่มีใครที่จะอาสามาสู้รบกับกรุงศรีอยุธยาเลย ทั้งๆที่พระนเรศวรมีรี้พลแค่หยิบมือเดียว แต่ก็ไม่มีใครกล้าไปรบพุ่ง พระยาลอ ขุนนางคนหนึ่ง จึงทูลว่า กรุงศรีอยุธยานั้น สำคัญที่พระนเรศวรองค์เดียว เพราะกำลังหนุ่ม รบพุ่งเข้มแข็งทั้งบังคับบัญชาผู้คนก็สิทธิ์ขาดรี้พลทั้งนายไพร่กลัวพระ นเรศวรยิ่งกว่ากลัวความตาย เจ้าให้รบพุ่งอย่างไรก็ไม่คิดแก่ชีวิตด้วยกันทั้งนั้น คนน้อยจึงเหมือนคนมาก ข้อความดังกล่าว เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงพระบารมีของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชได้อย่างชัดเจน ตลอดระยะเวลาที่เสด็จขึ้นครองราชย์ ๑๕ ปี ตั้งแต่ปีพ.ศ. ๒๑๓๓ จนเสด็จสวรรคตเมื่อปีพ.ศ. ๒๑๔๘ ทรงอุทิศเวลาเกือบตลอดรัชสมัยให้กับการศึกสงคราม เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงและความยิ่งใหญ่ให้กรุงศรีอยุธยาตลอดมา กล่าวกันว่าทรงนำทหารเข้ารบและทำศึกสงครามมากกว่า ๑๕ ครั้ง แต่การรบที่สำคัญและเด่นๆ

มี ๓ ครั้ง คือ

ครั้งที่๑ เมื่อพ.ศ. ๒๑๒๖ ที่ไปตีเมืองคัง ได้แสดงออกถึงพระปรีชาสามารถในการดำเนินกลศึก จนสามารถ จับเจ้าเมืองคังถวายพระเจ้าหงสาวดีได้

ครั้งที่๒ ปีพ.ศ. ๒๑๒๙ คราวพม่ายกล้อมกรุง ซึ่งพระเจ้าหงสาวดีเสด็จมาเอง โดยมีกำลังพลถึง ๒๕๐,๐๐๐ คนและเป็นทัพกษัตริย์ถึง ๓ ทัพคือ ทัพพระเจ้าหงสาวดี ทัพพระมหาอุปราชา และทัพพระเจ้าตองอู ครานั้นสมเด็จพระนเรศวรมหาราชได้ใช้ยุทธศาสตร์การเดินทหารด้วยทางเส้นในจน ได้รับชัยชนะ โดยพม่าไม่มีโอกาส เข้ามาประชิดกำแพงเมืองเลย

ครั้งที่๓ คือ คราวสงครามยุทธหัตถีตามที่กล่าวมาแล้ว และแม้แต่วาระสุดท้ายแห่งพระชนมชีพก็ยังทรงอยู่ในระหว่างการรบ คือทรงยกทัพไปตีเมืองอังวะ แต่เกิดประชวรเป็นหัวระลอก(ฝี) ขึ้นที่พระพักตร์และเป็นพิษจนสวรรคตไปเสียก่อน เมื่อพ.ศ. ๒๑๔๘ รวมสิริพระชนมายุได้ ๕๐ พรรษา

               ในโอกาสครบรอบ ๔๑๙ ปีแห่งการกระทำยุทธหัตถีจนได้รับชัยชนะ ทางทีมงาน Pimpatchara.com ขอเชิญชวนให้ประชาชนชาวไทยทุกหมู่เหล่าได้น้อมระลึกถึง พระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่ของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ด้วยการตั้งใจกระทำความคุณความดี ถวายเป็นพระราชกุศลแด่ดวงพระวิญญาณของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เพื่อขอพระบารมีพระองค์ทรงปกปักรักษาชาติไทยให้ร่มเย็น ศัตรูหมู่มารแพ้ภัยตนเอง ให้สมดังคำที่บรรพบุรุษได้กล่าวไว้ว่า “เกิดเป็นคนต้องแทนคุณแผ่นดิน”  ให้สมกับที่พระองค์ท่านได้ทรงกอบกู้เอกราช และเสียสละความสุขส่วนพระองค์มาตลอดพระชนมชีพ เพื่อให้เรามีบ้านเมืองที่น่าภาคภูมิใจมาจนทุกวันนี้

—————————————

ที่มา : อมรรัตน์ เทพกำปนาท

กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม

[button size=”medium” color=”#FFFFFF” bgcolor=”#0099FF” url=”https://pimpatchara.com/%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%A8%E0%B8%A7%E0%B8%A3%E0%B8%9B%E0%B8%8F%E0%B8%B4%E0%B8%9A%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%98%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1/”]สมเด็จพระนเรศวรกับการวิปัสสนากรรมฐาน[/button]

[button size=”medium” color=”#FFFFFF” bgcolor=”#00CC33″ url=”https://pimpatchara.com/%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%9B%E0%B8%B1%E0%B8%AA%E0%B8%AA%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%A8%E0%B8%A7%E0%B8%A3/”]พระวิปัสนาจารย์ในสมเด็จพระนเรศวร[/button]

Posted in ตามรอยพระนเรศวร.

Leave a Reply

Your email address will not be published.